ททท.เพิ่มโฟกัสตลาดภูมิภาคเอเชีย ปรับแผนขยายฐานนักท่องเที่ยว”เกาหลี-ญี่ปุ่น” | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ททท.เพิ่มโฟกัสตลาดภูมิภาคเอเชีย ปรับแผนขยายฐานนักท่องเที่ยว”เกาหลี-ญี่ปุ่น”

ททท.เพิ่มโฟกัสตลาดภูมิภาคเอเชีย ปรับแผนขยายฐานนักท่องเที่ยว”เกาหลี-ญี่ปุ่น”

“ททท.” ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ หันเพิ่มน้ำหนักตลาดภูมิภาคเอเชีย พร้อมเร่งขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว “เกาหลี-ญี่ปุ่น” เที่ยวไทยปี′59 เผยเตรียมดึงซุปตาร์เกาหลีมาท่องเที่ยว-พักแบบหรูหราจุดกระแสแฟนคลับกระเป๋าหนักแห่ตามรอยศิลปินในดวงใจ ด้าน “ญี่ปุ่น” เล็งแตกเซ็กเมนต์ใหม่ขยายฐานตลาดเดิม ขายความต้องการเที่ยวเฉพาะด้าน หวังรักษากระแสการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทย หลังรัฐบาลญี่ปุ่นรณรงค์ให้คนเที่ยวในประเทศ

นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการ ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากความกังวลเรื่องปัจจัยและสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุโรป ททท.ได้ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับตลาดในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ด้วยการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงตลาดหลักที่มียอดนักท่องเที่ยวมาไทยเกิน 1 ล้านคนต่อปี

ยกตัวอย่างเช่น ตลาดเกาหลี เดิมตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2559 ไว้ที่ 1.27 ล้านคน แต่คาดว่าน่าจะมีโอกาสได้ถึง 1.5 ล้านคน หลังแนวโน้มปี 2558 น่าจะมียอดการเดินทางเข้าไทยถึง 1.3 ล้านคน

“กลยุทธ์หนึ่งของ ททท.ที่จะใช้กับตลาดเกาหลีคือ การดึงศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์แห่งเอเชีย เช่น ชอง จี ฮุน หรือที่รู้จักกันในนาม “เรน” มาท่องเที่ยวและพักผ่อนแหล่งที่พักระดับหรูในเมืองไทย โดยเฉพาะในพื้นที่หาดทรายชายทะเล ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวเกาหลีชื่นชอบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บรรดาแฟนคลับเกาหลีซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคน ตัดสินใจมาท่องเที่ยวตามรอยศิลปินดังมากขึ้น”

สำหรับนักท่องเที่ยวเกาหลีนั้น นางศรีสุดากล่าวว่า ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการใช้จ่ายดี เฉลี่ย 5,200 บาทต่อคนต่อวัน พำนักนาน 4 คืน 5 วัน การใช้กลยุทธ์ให้ซูเปอร์สตาร์เกาหลีเป็นต้นแบบการเดินทางในไทย ถือเป็นโอกาสดีในการดึงกลุ่มแฟนคลับระดับไฮเอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญเพื่อผลักดันให้สัดส่วนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ของตลาดเกาหลีเที่ยวไทย เพื่อลดปัญหามัคคุเทศก์ไทยที่ยังขาดแคลนเป็นจำนวนมากสำหรับตลาดทัวร์เกาหลี

นางศรีสุดากล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นซึ่งเป็นอีกตลาดที่มียอดการเดินทางเข้าไทยเกิน1 ล้านคน ททท.จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์จับตลาดใหม่ ซึ่งมีความต้องการแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อรักษาฐานตลาด เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ต้องเผชิญปัจจัยรอบด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ที่ทำให้เมื่อปี 2557 คนญี่ปุ่นออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศลดลง 6% จากจำนวน 18-19 ล้านคนต่อปี และแนวโน้มน่าจะเป็นเช่นนี้ลากยาวถึงปี 2559

จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจทำให้ญี่ปุ่นต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจ รณรงค์ให้คนญี่ปุ่นเที่ยวในประเทศมากขึ้น ซึ่งคนญี่ปุ่นก็พร้อมใจปฏิบัติตาม ประกอบกับรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นทำตลาดอย่างหนัก กระตุ้นให้คนต่างชาติมาเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น โดยมีปัจจัยบวกเรื่องความสะดวกของระบบคมนาคมขนส่งที่พัฒนาสนับสนุนการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ในอนาคต ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มเก็บออมเงินไว้

“ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่น่ากังวล แต่ ททท.ก็ยังมั่นใจว่าตลาดญี่ปุ่นในปี 2559 จะเดินทางเที่ยวไทย 1.4 ล้านคน เติบโตราว 3%” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในฟากของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอย่างหนักเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เซ็น MOU ร่วมกับญี่ปุ่นถึง 3 ฉบับเพื่อส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวในประเทศให้ได้ 2 ล้านคน ภายในปี 2563 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากในภูมิภาคเอเชียรวม 14.56 ล้านคน ลดลงจากปี 2556 8.48% คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดราว 58.76% มีมูลค่ารวม 489.24 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลง 7% มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวน 1.26 ล้านคน นักท่องเที่ยวเกาหลีจำนวน 1.11 ล้านคน

และในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2558 นี้พบว่ามีนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียราว 16.5 ล้านคน หรือมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ราว 67.77% มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นราว 1.14 ล้านคน นักท่องเที่ยวเกาหลีราว 1.10 ล้านคน

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments