กางแผนกระตุ้นท่องเที่ยวไทย ฉุดลากใช้จ่ายเงิน2.4ล้านล้าน ครบสูตร”ลด แลก ชิงรางวัล” | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > กางแผนกระตุ้นท่องเที่ยวไทย ฉุดลากใช้จ่ายเงิน2.4ล้านล้าน ครบสูตร”ลด แลก ชิงรางวัล”

กางแผนกระตุ้นท่องเที่ยวไทย ฉุดลากใช้จ่ายเงิน2.4ล้านล้าน ครบสูตร”ลด แลก ชิงรางวัล”

14608836151460883653m

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ นสพ.มติชนรายวัน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน ฉุดไม่อยู่จริงๆ เพราะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญดึงดูดต่างชาติเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนอย่างต่อ เนื่อง สวนกับภาวะเศรษฐกิจโลกยังซบเซา ผนวกกับรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญ เพราะเห็นเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ คิดเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทดแทนอุตสาหกรรมอื่นที่ยังกระอักจากผลพวงเศรษฐกิจพ่นพิษ โดยเน้นใช้โอกาสเพิ่งเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและคมนาคมของอาเซียน

เชื่อมโยงเส้นทางทั่วอาเซียน

กลยุทธ์ เปิดฉากที่เตรียมใช้ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จะขับเคลื่อนแพคเกจท่องเที่ยวแบบ “อาเซียน คอนเน็กต์” เพราะเล็งเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนเติบโต เร็วมาก ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในอาเซียนระหว่างกันมากขึ้น ไปพร้อมกับการกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างภูมิภาค ทั้งยุโรป อเมริกาเข้ามาเที่ยวอาเซียนมากขึ้น

ตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้ไว้ว่า นับจากนี้ไปจะไม่ใช่แค่ดึงมาท่องเที่ยวในเมืองไทยอย่างเดียว ต้องมองภาพรวม ด้วยการท่องเที่ยวแบบเส้นทางเชื่อมโยง ตั้งแต่กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และประเทศอื่นๆ

ในกลยุทธ์ยังขอความร่วมมือสายการบินต่างๆ ทั้งการบินไทย ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย และอื่นๆ เปิดเส้นทางบินใหม่ หรือเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินเก่า โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เป็นฝ่ายทำการตลาด ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวให้รับทราบ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืน เน้นสร้างความเติบโตจากภายใน ด้วยการพัฒนาและสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ให้มีความหลากหลายและครบวงจร สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งท่องเที่ยว โรงแรมให้อยู่ได้ โดยรัฐบาลจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในท้องถิ่นเรียนรู้วิถีชุมชน จับจ่ายซื้อสินค้าชุมชน มากกว่าการเข้ามาช้อปปิ้ง หรืออาบแดดแล้วกลับไป พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ระบุว่า การจัดทำแพคเกจท่องเที่ยวอาเซียน คอนเน็กต์ ไมได้แค่จับตลาดต่างภูมิภาคมาเที่ยวอาเซียนมากขึ้น โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านท่องเที่ยวและการบิน ยังจับกลุ่มผู้มีฐานะร่ำรวยอายุ 18 ปีขึ้นไปในอาเซียน เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ให้หันมาเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

เตรียมกิจกรรมกระตุ้นเที่ยวทุกเดือน

โดยกำหนดผ่าน 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.เพิ่มเที่ยวบิน 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง, กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์, กรุงเทพฯ-พนมเปญ และกรุงเทพฯ-ฮานอย 2.เพิ่มเส้นทางการบินใหม่ อาทิ มัณฑะเลย์-เชียงใหม่-หลวงพระบาง, หลวงพระบาง-อุดรธานี-เสียมเรียบ, เสียมเรียบ-อุบลราชธานี-ดานัง และสมุย-สีหนุวิลล์ ซึ่งบางเส้นทางจะเดินทางโดยรถยนต์ แน่นอนว่าจะมีการเข้าพักระหว่างทาง ทำให้แหล่งที่พัก โรงแรมใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจอย่างแน่นอน และ 3.กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกและบูรณาการ ในกลุ่มอาเซียน เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มในกลุ่มที่มีรายได้สูง อาทิ กอล์ฟ สปา สุขภาพ แต่งงาน

นอกจากนี้เตรียมใช้แคมเปญ 50 เทศกาล และ 50 ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของไทย ควบคู่ไปกับแคมเปญของอาเซียนที่ได้ร่วมกันดำเนินการภายใต้ชื่อ วิสิท อาเซียน แอท ฟิฟตี้ โดย ททท.จะคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยว หรือวิถีวัฒนธรรมโดดเด่นของไทย นำเสนอนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยกระจายรายได้ สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น และทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว (รีพีทเตอร์) รู้สึกไม่จำเจกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ และยังตัดสินใจมาท่องเที่ยวเมืองไทยอยู่เช่นเดิมด้วย โดยจะให้สำนักงาน ททท.ในพื้นที่ทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำเสนอ ก่อนคัดเลือกและประชาสัมพันธ์ต่อไป

โดยวางเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่าง ประเทศเข้าภูมิภาคภายใต้แคมเปญนี้ในปี 2560 ตั้งไว้ที่ 121 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 8.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และไม่เพียงแต่กลยุทธ์กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากต่างภูมิภาคและในอาเซียนมา ท่องเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นเท่านั้น ททท.ยังเตรียมกลยุทธ์กระตุ้นคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย ที่จะเริ่มโครงการเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน ที่จะมีกิจกรรมต่อเนื่องลากยาวถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 หรือปลายเดือนกันยายนนี้ วางเป้าหมายกระตุ้นการท่องเที่ยวของตลาดคนไทยให้เพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวคน ไทยเป็นวันละ 2,860 บาทต่อหัว จากปี 2558 วันละ 2,600 บาท เริ่มด้วยโครงการที่ประชาชนฝากพาสปอร์ตไว้กับสำนักงาน ททท.ทั่วประเทศ ได้สิทธิจับรางวัลทุก 2 เดือน รวม 3 ครั้ง จนถึงเดือนกันยายน มอบรางวัลเบสท์ ออฟ เดอะ เวิลด์ อิน ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นของดีระดับโลก แต่อยู่ในเมืองไทย เช่น สปาที่ดีที่สุดในโลกซึ่งอยู่ในเมืองไทย ตลอดจนรางวัลอื่นๆ โดยประชาชนรายใดต้องการเดินทางก็สามารถมารับคืนได้ตลอดทุกวันทำการ

กิจกรรมเดือนพฤษภาคม ททท.เตรียมกระตุ้นเที่ยวก่อนเปิดเทอม เป้าหมายไปที่กลุ่มครอบครัว นักเรียนและนักศึกษาที่นิยมท่องเที่ยวทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ต่อด้วยเดือนมิถุนายน กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันไทยแลนด์ เซลฟี่ เดย์ และกำหนดให้เป็นเซลฟี่ มันธ์ หรือเดือนแห่งการเซลฟี่ตัวเองกับแหล่งท่องเที่ยว ชิงทุนรางวัล หวังกระตุ้นให้คนเดินทางเข้าไปใน ?แอ่งท่องเที่ยว? ที่รัฐบาลจัดให้สอดคล้อง 8 กลุ่มคลัสเตอร์ ซึ่งดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ sukjaistation.com แถมลุ้นชิงรางวัลรถยนต์โตโยต้า เครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุง และรางวัลอื่นอีกมากมาย ในเดือนนี้จะมีกิจกรรมเที่ยว

ชวนชิมอาหาร ถิ่นทั่วไทย ที่สำนักงาน ททท.ร่วมกับทางจังหวัด คัดเลือกเมนูอาหารประจำแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด แล้วช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรับทราบ เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ กระจายรายได้ในพื้นที่เมืองรอง หรือจังหวัดที่ยังไม่เป็นที่นิยมด้านการท่องเที่ยว

ดึงเอกชนร่วมจัดแคมเปญ

ครึ่งปีหลังเริ่มที่เดือนกรกฎาคม จัดกิจกรรมเที่ยวตามศรัทธาในเดือนแห่งการทำบุญและตรงกับวันหยุดราชการ ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งประชาชนจะนิยมกลับต่างจังหวัดไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง เพื่อท่องเที่ยวและทำบุญกันเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนเดือนสิงหาคมตรงกับวันแม่แห่งชาติ จัดโครงการสิงหาพาแม่เที่ยว ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่พัก มอบสิทธิพิเศษสำหรับแม่ลูกที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันแม่ ส่งท้ายเดือนกันยายน จัดกิจกรรมเที่ยวไทยก่อนเกษียณ ร่วมมือกับภาคเอกชน ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เหมือนฝรั่งเศสใช้กระตุ้นประชากรของตนให้ท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ ททท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างเป็นทางการ กับเครือสหพัฒน์ เพื่อจัดกิจกรรมร่วมต่างๆ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ จัดทริปกลุ่มทุนต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวไทย จัดเยี่ยมชมโรงงานเครือสหพัฒน์ จัดพิมพ์ภาพแหล่งท่องเที่ยว 12 เมืองต้องห้ามพลาด พลัส บนด้านข้างถ้วยมาม่า คัพ เพื่อสร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ต่อนักท่องเที่ยว เป็นต้น กำหนดจัดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-22 กันยายน 2559 ลุ้นจับรางวัลเป็นตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พักในแหล่ง 12 เมืองต้องห้ามพลาดทุกวัน

คาดหวังไม่แค่จูงใจแค่คนไทยแต่ยังดึงดูด นักเที่ยวจากกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามด้วย ขณะที่กระทรวงการคลังก็กระตุ้นคนไทยใช้เงินท่องเที่ยวและใช้บริการในประเทศ ผ่านมาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยวอีก 1 ปีย้อนหลัง สามารถนำค่าใช้จ่ายการเข้าพักมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2559

เป้าหมายสร้างรายได้2.4ล้านล้าน

แผน อัดสารพัดแคมเปญผ่านหลากหลายกิจกรรมการท่องเที่ยวของ ททท.ครั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ได้ 2.4 ล้านล้านบาท ในปี 2559 ในจำนวนนี้มุ่งกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทยให้ได้จำนวน 150 ล้านคนต่อครั้ง และสร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท และรับมือวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตภัยแล้งที่กำลังสร้างปัญหาต่อราคาสินค้า เกษตรตกต่ำ รายได้เกษตรกรและประชาชนลดลง รวมถึงหวั่นว่าจะบั่นทอนความรู้สึกอยากท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงินหมดลง แม้ตลาดต่างชาติเองก็ไม่ชัดเจนว่าจะยั่งยืนแค่ไหน เมื่อเศรษฐกิจโลกยังไร้ความชัดเจนในการฟื้นตัว

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทยที่จะผุดเป็นดอกเห็ดรายเดือน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายผ่านภาคการท่องเที่ยวมาก แค่ไหน คงต้องรอดู!

ที่มา

updated: 17 เม.ย 2559 เวลา 18:00:26 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1460883615

Comments

comments