จี้รัฐปราบโรงแรมผิดกฎหมายเอื้อดันค่าจ้างธุรกิจ
กูรูท่องเที่ยว ชี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว จุดหลักมาจากปัญหาสมองไหล หลังพบพนักงานประจำได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทอื่น จี้รัฐบาลเอาจริงปราบโรงแรมที่ไม่จดทะเบียนถูกต้อง เชื่อดันเพิ่มค่าจ้างในธุรกิจนี้ได้ ด้านบุ๊กกิ้งดอทคอม เผยดัชนีราคาห้องพักประจำปี58 พบผู้บริโภคจ่ายค่าโรงแรมในไทยลดลงเฉลี่ย 8%
นายกงกฤช หิรัญกิจ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือสทท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการผลิตบุคลากรของสถาบันการศึกษา เพราะปัจจุบันการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวมีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันราชภัฏทุกแห่ง มหาวิทยาลัยต่างๆ ต่างก็มีการเปิดหลักสูตรด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่ประเด็นอยู่ที่อัตราค่าจ้างแรงงานในภาคโรงแรมและการบริการด้านการท่องเที่ยว หากเทียบกับประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติ พบว่า กิจกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร มีอัตราค่าตอบแทนเฉลี่ยที่พนักงานประจำได้รับ ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทอื่นๆ (ตารางประกอบ) ทำให้เกิดภาวะสมองไหล
ดังนั้นส่วนใหญ่คนที่ทำงานอยู่ภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยว พอทำงานได้สักพัก ก็จะเปลี่ยนอาชีพไป ไปอยู่ในภาคประกันภัย การเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต เพราะคนที่ทำงานด้านโรงแรมจะมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่ภาคการท่องเที่ยวมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี จากปัจจุบันที่มีแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวราว 6 ล้านคน เป็นแรงงานทางตรง 2.4 ล้านคนและแรงงานทางอ้อม 3.6 ล้านคน
“หากถามว่าทำไมค่าจ้างแรงงานในกิจกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร จึงต่ำกว่าประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภท จุดหลักเกิดจากโครงสร้างราคาขายห้องพักของโรงแรมในประเทศไทยที่ไม่สมดุล สืบเนื่องจากผู้ประกอบการโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงกว่า จะต้องต่อสู้กับผู้ประกอบการโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ไม่สามารถขายห้องพักในราคาที่สูงได้ การจ่ายค่าตอบแทนพนักงานจึงไม่สูง โดยอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยของไทยยังจัดว่าต่ำหากเทียบกับในภูมิภาคเอเชีย อยู่ระดับพอๆกับอินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์” นายกงกฤช กล่าว
ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญจริงๆในการจัดระเบียบธุรกิจโรงแรม จับกุมโรงแรมที่ไม่จดทะเบียนถูกต้อง ซึ่งผมมองว่าจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของไทยสามารถปรับราคาขายห้องพักได้เพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการขยับค่าแรงงานประจำของพนักงานได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับการจัดทำดัชนีห้องพักHotel Price Index (HPI) ประจำปี 2558 ของ Hotels.com (เว็บไซต์จองที่พักออนไลน์ชั้นนำของโลก) ที่พบว่าผู้บริโภคจ่ายค่าโรงแรมในไทยลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาเฉลี่ยปี 2558 อยู่ที่ 2,968 บาทต่อคืน จากราคาเฉลี่ยปี 2557 ที่อยู่ที่ 3,226 บาทต่อคืน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง
ดัชนีราคาห้องพักHPI ระบุว่า 95% ของสถานที่ท่องเที่ยวในไทย มีค่าใช้จ่ายด้านห้องพักลดลงในปี 2558 โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีราคาเฉลี่ยลดลงมากที่สุด คือ กาญจนบุรี และเกาะเสม็ด ซึ่งลดลงแห่งละ 39% มีสถานที่ท่องเที่ยวเพียง 2 แห่งในไทยเท่านั้นที่ผู้บริโภคจ่ายค่าห้องพักต่อห้องต่อคืนในราคาเพิ่มขึ้น คือ ปราณบุรี เพิ่มขึ้น 7% มีราคาเฉลี่ย 5,529 บาท และเกาะไหง จ.ตรัง มีราคาเฉลี่ย 3,473 บาท
ส่วนจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยม ล้วนมีการใช้จ่ายด้านที่พักลดลงด้วยเช่นกัน ได้แก่ ภูเก็ต ลดลง14% ราคาเฉลี่ย 2,754 พัทยา ลดลง 9% ราคาเฉลี่ย 2,110 บาท และเชียงใหม่ ลดลง 8% ราคาเฉลี่ย 2,170 บาท
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ผลสำรวจของHPI จะระบุว่าไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวจ่ายค่าโรงแรมในไทยลดลงเฉลี่ย 8% หรืออยู่ที่ 2,968 บาทต่อคืนเท่านั้น แต่เมืองอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ก็มีราคาห้องพักเฉลี่ยต่อห้องต่อคืนลดลงด้วยเช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ ลดลง 18% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,527 บาท ไทเป ลดลง 13% ราคาเฉลี่ย 3,279 บาท โซล ลดลง 19% ราคาเฉลี่ย 3,232 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่าราคาห้องพักที่ผู้บริโภคทั่วโลกจ่ายในปี 2558 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปี 2550 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าโรงแรมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียง 1%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2559
http://www.thansettakij.com/2016/04/02/41062