ดุลยภาพกับนักท่องเที่ยวจีน “รับทรัพย์ VS. รับเละ”
ธุรกิจการท่องเที่ยวของโลก คิดเป็น 10% ของจีดีพีโลก หรือราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงตัวเลขปี 2014) และจีน ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก เป็นเจ้าของตัวเลขส่วนแบ่งจำนวนมากในห้วง 10 ปีมานี้
ตัวเลขฝ่ายจีนระบุว่า มีชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศเพิ่มขึ้น 17% มีการเดินทาง 120 ล้านทริปในปีที่ผ่านมา ขณะที่เอชเอสบีซี ฮ่องกง ระบุว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคสินค้าลักเซอรี่ระดับต้นของโลกถึง 45% ตัวเลขที่เย้ายวนนี้ส่งผลให้ประเทศตะวันตกอย่างแคนาดา สหรัฐ อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส หวังกับตลาดนักท่องเที่ยวจีนเช่นกัน
แต่ด้านหนึ่งปัญหาการหลั่งไหลชนิดทะลักของนักท่องเที่ยวจีนสร้างผลกระทบที่ได้ยินกันไม่รู้จบถูกมองว่ากำลังเข้ามาสูบใช้ทรัพยากร ทำให้ประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนได้ประโยชน์ทางด้านรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปจนถึงความขัดแย้งด้านความรู้สึกต่อนักท่องเที่ยวจีนในประเด็น “วัฒนธรรมอันแตกต่าง” (Culture Gap)
สำหรับประเทศไทย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต อาจยังไม่ถึงจุดเดือด เมื่อเทียบกับเกาะเล็กขนาดประชากร 4 ล้านคนอย่างฮ่องกง ที่ต้องรับชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ข้ามเข้ามาปีละ 40 ล้านคน ในปี′58 ที่ผ่านมา (ประเมินว่าภายในปี′60 จะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี) กรณีญี่ปุ่นมีรายงานว่า ความสัมพันธ์คนญี่ปุ่นกับนักท่องเที่ยวจีนเป็นลักษณะ love-hate relationship ไม่ได้ต่างจากบ้านเรา กระนั้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวญี่ปุ่นรับว่า ขาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ ไม่อยากจะต่อว่า อยากแค่แนะนำให้ระมัดระวังในเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างให้มากขึ้น
หลายประเทศในอาเซียนไปจนถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างมีตัวเลขรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่สัดส่วนโดยมากมาจากนักท่องเที่ยวจีน
เป็นเช่นนี้ หนทางสร้างดุลยภาพควรเป็นอย่างไร ?
ในเกาะฮ่องกงมีการคาดการณ์และเตรียมแผนรับมือตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่วันนี้นักท่องเที่ยวจีนก็ทะลักจนประชากรในฮ่องกงเองก็รับไม่ไหวตามคาด เพราะมีความแออัดทั้งระบบขนส่งมวลชนไปจนถึงการเข้ามากว้านซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตจนสินค้าขาดแคลนก็มีกระทั่งรูปแบบร้านค้าที่ไม่ตอบสนองคนในพื้นที่ แต่เน้นขายกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
เคยมีกระแสจำกัดจำนวนนักท่องเทียวจีนในฮ่องกงมาก่อนหน้าพักใหญ่แล้วครั้งนั้นทางการแจงว่า ฮ่องกงเป็นเมืองท่าเสรี รัฐบาลไม่สามารถและไม่ควรจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะช่วยเรื่องจีดีพีในฮ่องกงและการสร้างงาน
เมื่อไม่จำกัด แต่หาวิธีบริหารใหม่ด้วยการพยายามพัฒนาพื้นที่ส่วนอื่นดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไม่ให้กระจุกตัว อาทิ สร้างแหล่งช็อปปิ้งสินค้าแถวชายแดน สกัดให้คนจีนที่ข้ามมาใช้จ่ายฮ่องกงไม่ต้องมากระจุกในพื้นที่ใจกลางอย่างเดียว การสร้างโรงแรมนอกเมือง และกระจายนักท่องเที่ยวไปสถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่น ๆ
แม้ฮ่องกงจะวางแผนรับมือ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี
สำหรับประเทศไทย มีข้อเสนอให้แต่ละท้องถิ่นใช้กฎหมายให้เข้มข้นกับกลุ่มธุรกิจจีนที่เข้ามาตั้งฐานทำธุรกิจรับนักท่องเที่ยวจีนในไทยไม่ให้ใช้ทรัพยากรฟรีกันแบบเสรีง่ายดายแต่ต้องจัดระบบให้เข้ามาอยู่ในกติกาให้ได้ เพื่อสร้างรายได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ปล่อยให้ “ง่ายเกินไป”
ในเมื่อเลือกปริมาณก็ต้อง “บริหารจัดการ” สภาวะที่เราต้องการเขา แต่จะรับมือและบริหารจัดการอย่างไร ดูกรณีฮ่องกงเตรียมการมาล่วงหน้าหลายปียังปวดขมับ ส่วนไทยอาจหนักกว่าหากไม่วางแผนให้ดี
วันนี้สภาวะเขาควาย (Dilemma) เกิดขึ้นแล้ว กลุ่มได้ประโยชน์ก็ว่า “รับทรัพย์” กลุ่มเห็นปัญหาหมักหมมก็ว่า “รับเละ” อยู่กับว่าจะบูรณาการวางแผนรับมือให้จริงจัง เข้มข้น เป็นรูปธรรมกันเร็วแค่ไหน
updated: 11 มี.ค. 2559 เวลา 08:00:30 น.