ธุรกิจการบินQ1พุ่ง7.25หมื่นล. อานิสงส์ท่องเที่ยวโต-นํ้ามันลด/‘ทีจี’โกยกำไร 6 พันล้าน
ท่องเที่ยวไทยขยายตัว อานิสงส์นํ้ามันปรับตัวลดลงปิดฉาก Q1ธุรกิจแอร์ไลน์ ดันรายได้ธุรกิจการบินพุ่ง 7.25 หมื่นล้าน มีกำไรสุทธิ 8.59พันล้านบาท บินไทย คว้ากำไรร่วม 6 พันล้านบาท กำไรจากการดำเนินธุรกิจการบินโต 62.6% และด้อยค่าเครื่องบินที่เหลือเพียง 174 ล้านบาทลุย 4 กลยุทธ์ เข้าสู่ระยะที่ 2 ของแผนปฏิรูปองค์กร ไทยแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ส ผู้โดยสารโต 2 ดิจิต นกแอร์เดี้ยงจากผลพวงลดไฟลต์
จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทย ได้อนิสงส์จากปัจจัยบวกจากการเมืองภายในประเทศที่มีเสถียรภาพ ส่งผลดีต่อการเติบโตของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนและการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจการบินในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้รวมกันกว่า 80 % มีการเติบโตเกือบทุกสายการบิน ยกเว้นนกแอร์
โดยการดำเนินธุรกิจช่วงไตรมาสแรกปีนี้ของธุรกิจการบินหลักของไทย คือ 4 สายการบิน คือ บางกอกแอร์เวย์ส,ไทยแอร์เอเชีย,การบินไทย และนกแอร์ มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจการบินรวมกันอยู่ราว 7.25 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ราว 8.59 ล้านบาท ถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีเพียงสายการบินนกแอร์ ที่ยังประสบภาวการณ์ขาดทุน โดยการขาดทุนเป็นผลมาจากรายได้ค่าโดยสารไม่เป็นไปตามป้าหมาย จากการปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง จากปัญหาการขาดแคลนนักบิน (ตารางประกอบการ)อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจการบิน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม2559 ทอท.มีกำไรสุทธิ5,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.83%
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลประกอบการของการบินไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน 7,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.6% มีค่าใช้จ่ายจากการประมาณการค่าซ่อมแซมเครื่องบินเช่าดำเนินงานตามสภาพการบินและเงื่อนไข การบำรุงรักษาเครื่องบิน 1,153 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 174 ล้านบาท และมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 681 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 6,011 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบที่ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการบริการจัดการต้นทุนที่ดี ราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ในส่วนของรายได้รวมที่ลดลง2.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลดลง และการแข่งขันที่รุนแรง
อีกทั้งในปี 2559 บริษัทฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ 2 ของแผนปฏิรูปองค์กรคือ “สร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน” โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ คือ1. การหารายได้ เน้นที่แผนการเพิ่มรายได้ในทุกๆ ด้าน 2. การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการกระแสเงินสดและโครงสร้างเงินทุน 3. การสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ อาทิ การบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Management & Optimization) การวางแผนฝูงบิน (Fleet Plan) การเพิ่มศักยภาพระบบบริหารรายได้ (Revenue Management Enhancement) และ4. การสร้างความเป็นเลิศในการบริการลูกค้า ซึ่งหลายแผนงานได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 2558 เช่น การยกระดับการบริการชั้นธุรกิจ (Business Class Service Upgrade)
ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน 95 ลำ น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 9 ลำ แต่จากการปรับเที่ยวบินและใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น Aircraft Utilization เพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ชั่วโมง (จาก 10.7 ชั่วโมง) ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลงเพียง 1.8% โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 0.9% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.5% สูงกว่า ปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 75.4% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.92 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 5.3% ส่วนการมิถุนายน และ กรกฎาคม นี้ จะรับเครื่องบินใหม่ 350 มา 2 ลำ และ กรกฎาคม จะปลดออกอีก 2 ลำ ทำให้สิ้นปีมีเครื่องบินเท่าเดิม 95 ลำ
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในไตรมาส 1 นี้ สายการบินขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 18 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 88% มีฝูงบินแอร์บัส เอ 320 รวม 47 ลำเมื่อสิ้นสุดไตรมาส ซึ่งใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยแอร์เอเชียได้เปิดตัวเส้นทางบินใหม่ไปแล้ว 10 เส้นทาง ได้แก่ จากกรุงเทพฯ สู่ซัวเถา โกชิ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จากภูเก็ตสู่อู่ฮั่น จากเชียงใหม่สู่ฉางซา และยังได้เปิด “หาดใหญ่” เป็นฐานปฏิบัติการการบินแห่งที่ 6 เสริมศักยภาพศูนย์กลางการบินภาคใต้ บินตรงสู่หลากหลายเส้นทางขึ้น
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ว่า ผลการดำเนินที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตเพิ่มขึ้น 10.5% และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของบริษัทฯ ปรับตัวลดลง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
http://www.thansettakij.com/2016/05/19/53784