นักลงทุนแนะเชนโรงแรมไทยปรับตัว แยกธุรกิจ”รับบริหาร-ลงทุน”ตัดปัญหาแข่งกันเอง | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > นักลงทุนแนะเชนโรงแรมไทยปรับตัว แยกธุรกิจ”รับบริหาร-ลงทุน”ตัดปัญหาแข่งกันเอง

นักลงทุนแนะเชนโรงแรมไทยปรับตัว แยกธุรกิจ”รับบริหาร-ลงทุน”ตัดปัญหาแข่งกันเอง

กลุ่มอินเวสเตอร์โรงแรมแนะเชนโรงแรมไทยปรับโครงสร้าง แยกบริษัทรับบริหารออกจากบริษัทลงทุน ลดความกังวลเรื่องข้อขัดแย้งผลประโยชน์กรณีลงทุนในเดสติเนชั่นเดียวกันกับลูกค้า พร้อมวางรากฐานขยายลูกค้าสมาชิกจากลอยัลตี้โปรแกรมเหมือนเชนนานาชาติ ลดการพึ่งพารายได้จาก OTA พร้อมปั้นโรงแรมแฟลกชิปทุกแบรนด์ในบ้านเกิด-ดึงดูดนักลงทุน

นายไพสิฐ แก่นจันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะนักลงทุนที่เลือกเชนโรงแรมมาบริหารโรงแรมมองว่า ในปัจจุบันเชนโรงแรมไทยบางแห่งยังดำเนินธุรกิจไม่ถูกทิศทางนัก เนื่องจากไม่ได้แยกบริษัทรับบริหารโรงแรมออกจากบริษัทที่มีหน้าที่ลงทุนโรงแรม ทำให้นักลงทุนหรือเจ้าของโรงแรมที่สนใจเลือกเชนมาบริหาร เกิดความกังวลเรื่องข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดควรปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ พร้อมทั้งแยกบริษัทรับบริหารโรงแรมออกจากบริษัทลงทุนให้ชัดเจน เพื่อคลายความกังวลแก่นักลงทุน

ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนไม่แน่ใจว่าหากให้เชนไทยซึ่งมีโรงแรมที่ลงทุนเองในจุดหมายเดียวกันมาบริหารโรงแรมของนักลงทุนจะมีความยุติธรรมในการเสนอขายห้องพักแก่ลูกค้ามากพอหรือไม่เพราะนักลงทุนกังวลว่าเชนไทยจะเสนอขายห้องพักของโรงแรมที่เชนไทยลงทุนแก่ลูกค้าก่อน จากนั้นค่อยขายห้องพักโรงแรมที่รับบริหารทีหลัง หรือมีการส่งลูกค้าที่จ่ายราคาแพงแก่โรงแรมที่ลงทุนเองก่อน แล้วค่อยส่งลูกค้าที่จ่ายราคาถูกลงมาให้โรงแรมที่รับบริหาร

“เวลานักลงทุนเลือกเชนโรงแรม เขาจะดูความยุติธรรมมาก่อนเป็นอันดับแรก เชนไทยต้องตอบคำถามนักลงทุนให้ได้ว่ายุติธรรมพอหรือไม่ เพราะหากเชนไทยต้องการประสบความสำเร็จ และเติบโตได้ดี ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ ไม่มีข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างที่เจ้าของโรงแรมกังวล”

และหากให้พนักงานขายนั่งประจำที่สำนักงานใหญ่เป็นคนขายกล้ายืนยันหรือไม่ว่าเสนอขายอย่างยุติธรรมแก่ลูกค้าเจ้าของโรงแรมที่รับบริหารจริง ๆ โดยเฉพาะในหลาย ๆ จุดหมายที่เชนโรงแรมไทยลงทุนโรงแรมตัวเอง ซึ่งเชนโรงแรมนานาชาติจะไม่มีปัญหานี้ เพราะมีการแยกบริษัทรับบริหารและลงทุนออกจากกันอย่างชัดเจน พร้อมส่งพนักงานขายไปประจำโรงแรมแต่ละแห่งที่รับบริหาร เจ้าของโรงแรมจึงมั่นใจเรื่องความยุติธรรม

นอกจากนี้ เชนโรงแรมไทยยังพึ่งพาช่องทางการขายผ่านออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์ (OTA) ในสัดส่วนที่สูงมาก ต่างจากเชนโรงแรมนานาชาติที่พยายามสร้างการเติบโตของลูกค้าผ่านลอยัลตี้โปรแกรม จากการขยายฐานสมาชิกของแต่ละเชน ขณะที่โรงแรมไทยยังมีฐานสมาชิกลอยัลตี้โปรแกรมน้อยมาก อาจเป็นเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในช่วงที่ผ่านมา

อีกประเด็นที่เชนโรงแรมไทยยังขาด คือการมีโรงแรมต้นแบบที่เป็นเรือธง หรือแฟลกชิป ทุกแบรนด์ของเชนที่เมืองเดียวกันในประเทศบ้านเกิด ตามกลยุทธ์การสร้างฐานธุรกิจในลักษณะโฮมเบส หากเชนโรงแรมไทยทำได้ จะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์และความแข็งแรงของเชนไทยในที่ตั้งของตัวเอง เป็นโชว์เคสให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาดูรูปแบบและบริการของแต่ละแบรนด์ได้

“เชนโรงแรมนานาชาติ เขามีโรงแรมแฟลกชิปที่โฮมเบสชัดเจน เช่น แมริออทมีโรงแรมทุกแบรนด์ที่โฮมเบสในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ขณะที่แอคคอร์ มีโฮมเบสที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ พลาเทโน่ เชนโรงแรมจีน ก็มีโฮมเบสที่เมืองกว่างโจว”



แหล่งข่าวจากวงการลงทุนโรงแรมอีกรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ปกติการคิดค่าธรรมเนียมของเชนโรงแรม แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมการบริหารโรงแรมพื้นฐาน (เบสิก แมเนจเมนต์ ฟี) คิดจากรายได้รวม โดยเชนนานาชาติคิดกัน 2-4% ของรายได้รวม 2.ค่าธรรมเนียมส่วนต่างกำไร (อินเซนทีฟ ฟี) เชนนานาชาติคิดกัน 5-12% ของกำไร และ 3.ค่าทำตลาด

นักลงทุนโรงแรมที่ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจโรงแรมมาก่อน มักเข้าใจผิดว่าการเลือกเชนไทยมาบริหาร จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเชนนานาชาติ เพราะความจริงแล้ว เชนไทยบางรายคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่าเชนนานาชาติ

โดยเชนไทยรายหนึ่งคิดค่าธรรมเนียมบริหารโรงแรมพื้นฐานที่3% ของรายได้รวม และคิดค่าธรรมเนียมส่วนต่างกำไรอยู่ที่ 10% นอกจากนี้เชนไทยบางรายคิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการสปาเพิ่มจากค่าธรรมเนียมส่วนที่ต้องคิดอยู่แล้ว ต่างจากเชนนานาชาติที่ไม่คิดค่าบริหารจัดการสปาเพิ่มอีกด้วย

 

updated: 15 มี.ค. 2559 เวลา 09:00:11 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments