ภัยแล้งกระหน่ำ 11 จว. 20 อำเภอ พื้นที่วิกฤตเสี่ยงขาดน้ำกิน-น้ำใช้ | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ภัยแล้งกระหน่ำ 11 จว. 20 อำเภอ พื้นที่วิกฤตเสี่ยงขาดน้ำกิน-น้ำใช้

ภัยแล้งกระหน่ำ 11 จว. 20 อำเภอ พื้นที่วิกฤตเสี่ยงขาดน้ำกิน-น้ำใช้

14585500041458550262l

สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้จริงในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศลดต่ำลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักที่มีผลต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้แก่ เขื่อนภูมิพล (709 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7%)-เขื่อนสิริกิติ์ (1,316 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20%)-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (272 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30%)-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (345 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36%) มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง รวมกันทั้งหมดแค่ 2,642 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15 (ตัวเลข ณ วันที่ 18 มีนาคม 2559)

ขณะที่ตัวเลขน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 อ่าง รวมกันมีแค่วันละ 3.44 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องระบายน้ำออกเพื่อผลักดันน้ำเค็มและเพื่อการอุปโภค-บริโภควันละ 18 ล้าน ลบ.ม.นั้น หมายความว่า ปริมาณน้ำไหลเข้ามี “น้อยกว่า” ปริมาณน้ำระบาย ส่งผลให้ต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้น้ำใช้การได้จริงในเขื่อนสามารถใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม โดยนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้ความมั่นใจว่า การใช้น้ำใน 4 เขื่อนหลักปัจจุบันมีการใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 2,244 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้การได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค (น้ำกินน้ำใช้) และรักษาระบบนิเวศเพื่อผลักดันน้ำเค็มอีกประมาณ 2,694 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำจำนวนนี้ “เพียงพอไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559”

หรือปีนี้ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่หากเกิดฝนทิ้งช่วงเหมือนปีที่ผ่านมา ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคอื่น ๆ จะต้องประสบกับการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้กันทั้งประเทศแน่

มีข้อน่าสังเกตว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในขณะนี้เหลือปริมาณน้ำใช้การได้จริงในเขื่อนน้อยมาก เพียงแค่ 28 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 1 มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนวันละ 300,000 ลบ.ม. ส่งผลให้ต้องระบายน้ำเพียงวันละไม่เกิน 500,000 ลบ.ม. โดยน้ำจำนวนนี้จะถูกใช้เฉพาะการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ไม่มีการส่งน้ำเพื่อการเกษตร จากการคำนวณเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนเมษายน เขื่อนอุบลรัตน์จะเหลือน้ำใช้การได้จริงไม่เกิน 7 ล้าน ลบ.ม. จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากฝน

ยังไม่ตกลงมา กรมชลประทานมีแผนที่จะนำ “น้ำก้นอ่าง (Dead Storage)” มาใช้ ซึ่งหมายถึงสถานการณ์คับขันอย่างถึงที่สุด

11 จังหวัด 20 อำเภอ เสี่ยงขาดน้ำ

ล่าสุดมีรายงานจากกรมชลประทานเข้ามาว่า สำนักงานชลประทานในพื้นที่ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำในระดับใกล้วิกฤต จาก 28 จังหวัด 76 อำเภอ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ในปัจจุบันมีถึง 11 จังหวัด 20 อำเภอ ที่สถานการณ์ใกล้วิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี (ลาดหลุมแก้ว-ลำลูกกา), พระนครศรีอยุธยา (บางปะอิน-วังน้อย), ฉะเชิงเทรา (บางน้ำเปรี้ยว), นครสวรรค์ (ชุมแสง-ตาคลี), นครนายก (องครักษ์), ปราจีนบุรี (บ้านสร้าง), มุกดาหาร (ดงหลวง), อุบลราชธานี (พิบูลมังสาหาร), นครราชสีมา (ครบุรี-ปากช่อง-สีคิ้ว-เสิงสาง), เพชรบูรณ์ (วิเชียรบุรี) และเชียงราย (พาน-แม่จัน-แม่สาย-เวียงชัย) และมีอีก 40 จังหวัด 132 อำเภอ อยู่ในสถานะต้องเฝ้าระวังในการเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ

โดยประชาชนที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำระดับใกล้วิกฤตได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอให้โครงการชลประทาน/จังหวัดส่งน้ำเข้าไปช่วยเหลือโดยด่วน อาทิ กลุ่มชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี, กลุ่มชาวนาในจังหวัดนครนายก, ชาวบ้านใน ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถึงขั้นขาดน้ำดิบในการทำประปาหมู่บ้าน, กลุ่มชาวนาใน อ.ลอง จ.แพร่ เรียกร้องขอให้เปิดประตูระบายน้ำที่ฝาย, กลุ่มชาวนาใน อ.ธัญบุรี ขอสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์, ประชาชนใน อ.ลืออำนาจ ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้, เกษตรกร อ.ปากท่อ กับ อ.เมือง เปิดศึกแย่งชิงน้ำ และประชาชนคลอง 16 เรียกร้องให้ชลประทานผันน้ำเข้าคลอง 16 เพราะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

กปน.คุมเข้มน้ำเค็มรุกสำแล

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงกรณีน้ำเค็มหนุนขึ้นสูงจนกระทบกับแหล่งน้ำดิบของการประปาที่ สำแล จ.ปทุมธานี ว่า กปน.มีเกณฑ์การเฝ้าระวังค่าความเค็มที่ 0.25 กรัม/ลิตร หากค่าดังกล่าวขึ้นสูงจะมีมาตรการป้องกันด้วยการหยุดการสูบน้ำดิบในเวลาดังกล่าว แม้ค่าความเค็มเกินกว่า 0.25 กรัม/ลิตร แต่ระบบการผลิตน้ำประปายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไม่ได้นำมวลน้ำที่มีความเค็มเข้ามาผลิตน้ำประปา

ล่าสุด กปน.ได้ก่อสร้างขยายถังเก็บน้ำใสของสถานีสูบจ่ายน้ำเพชรเกษมเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณการสูบจ่ายน้ำของสถานีจาก 40,000 ลบ.ม. เป็น 80,000 ลบ.ม. และเพื่อช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน และไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่ประสบกับปัญหาน้ำเค็ม กปน.จะคิดค่าน้ำในอัตราพิเศษให้แก่ชาวสวนที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรรวม 5 เดือน (กุมภาพันธ์-มิถุนายน 2559)

ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ดูแลการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการอนุมัติงบประมาณปรับปรุงขยาย กปภ. 6 สาขา โดย ณ วันที่ 8 มีนาคม กปภ.ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แบ่งเป็นสาขาที่จ่ายน้ำเป็นเวลา 4 สาขา สาขาที่ลดอัตราการจ่ายน้ำ 6 สาขา สาขาที่ปริมาณน้ำดิบลดลง 24 สาขา และสาขาที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ 3 สาขา นอกจากนี้ยังมีการประเมินสาขาที่เสี่ยงจะเกิดปัญหาภัยแล้ง พบว่า มี กปภ.สาขาที่มีความเสี่ยงสูง 12 สาขา และเฝ้าระวัง 49 สาขา มีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการน้ำประปา 6 โครงการ งบประมาณรวม 1,648,199,999 บาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ และรองรับการขยายตัวของชุมชน อาทิ สาขาสระแก้ว-อุตรดิตถ์ (ตรอน-อ.เมือง)-กาฬสินธุ์ (อ.เมือง-ยางตลาด-กมลาไสย)-ตาก (แม่สอด)-มุกดาหาร (อ.เมือง)-หนองคาย (อ.เมือง-สระใคร)

เพิ่มสต๊อกน้ำดื่มอีก 20%

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ โซดา และน้ำดื่มสิงห์ กล่าวถึงกำลังการผลิตของโรงงานทุกแห่งขณะนี้ยังอยู่ในภาวะปกติ แม้จะมีบางแห่งที่ใกล้กับพื้นที่ที่แห้งแล้ง เช่น มหาสารคาม สำหรับผลิตโซดา และขอนแก่น สำหรับผลิตเบียร์ แต่การใช้น้ำเพื่อนำมาผลิตก็เป็นไปตามแนวทางของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ที่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยกว้าง ส่วนเรื่องความกร่อย-ความด่าง-ความกระด้างของน้ำ ทางบริษัทจะใช้กระบวนการทรีตเมนต์ให้น้ำมีสภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น

นายสุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีแท็งก์น้ำสำรองอยู่ 4 แท็งก์ บรรจุน้ำได้ 3,000 คิว/แท็งก์ และสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ได้ 7 วัน ซึ่งก่อนนำน้ำไปใช้จะมีการกรองน้ำ อาทิ น้ำสำหรับล้างไตจะผ่านกระบวนการกรองผ่านเครื่องกรองน้ำ ระบบรีเวิร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis) และยังมีระบบกรองน้ำใช้ด้วย

ด้านนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำดื่มว่า กปน.ยืนยันสามารถจ่ายน้ำให้ผู้ผลิตน้ำดื่มผลิตน้ำได้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยลดกำลังการผลิตลง 10% เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ นอกจากนี้ยังลดแรงดันน้ำลงในช่วงกลางคืนเพื่อลดการสูญเสียน้ำลง ส่วน กปภ.ก็ให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และวางแผนส่งน้ำจากพื้นที่ที่ไม่มีปัญหามายังพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง “ทางกรมได้ขอให้ผู้ผลิตน้ำดื่มเพิ่มปริมาณสต๊อกน้ำดื่มอีก 20% จากปกติที่ช่วงฤดูร้อนบริษัทก็จะเพิ่มกำลังการผลิต 20-30% อยู่แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค”

updated: 21 มี.ค. 2559 เวลา 15:50:05 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1458550004

Comments

comments