วิกฤต ! ธุรกิจการบิน แทบล้มทั้งยืน | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > วิกฤต ! ธุรกิจการบิน แทบล้มทั้งยืน

วิกฤต ! ธุรกิจการบิน แทบล้มทั้งยืน

วิกฤตปัญหาการบินของไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่องย้ำร่องเดิมๆ

นอกจากปัญหาสายการบิน “นกแอร์” ยกเลิกเที่ยวบินแบบกะทันหัน เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก หนักกว่าเก่าคือการประกาศยกเลิก 20 เที่ยวบิน เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ อ้างว่าเพื่อจัดแถวระบบการบินให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ล่าสุด สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศหรือสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเดินอากาศในไทยทุกบริษัท พบว่าเบื้องต้นมีผู้ประกอบการสายการบิน 4 รายกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

เริ่มจากบริษัท ซิตี้ แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “ซิตี้แอร์เวย์” ได้ถูกตรวจสอบฐานะทางการเงินตั้งแต่ปี 2556-2558 พบว่าบริษัทมีโครงสร้างเงินทุนมาจากการกู้ยืมเงิน ทำให้มีภาระผูกพันที่ต้องชำระดอกเบี้ยระยะสั้น ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินงาน บริษัทยังมีภาระหนี้สินสูงทำให้การบริหารงานภายในมีความเสี่ยงสูงไปด้วย หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีเงินสดหมุนเวียนจากการดำเนินงานไม่มาก

กพท.ยังตรวจเจออีกว่า บริษัทมีภาระหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก ประกอบด้วยหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมการจัดจราจรทางอากาศกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จำนวน 25,098,149 บาท และยังมีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินกับกรมการบินพลเรือนฮ่องกง ณ เดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวน 6,731,292 บาท

นอกจากนั้นยังมีปัญหาค้างชำระค่าเช่าอากาศยานจำนวนมาก ขณะที่เจ้าของอากาศยานได้ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีโดยคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลด้วย

กพท.จึงประเมินว่า “ซิตี้แอร์เวย์” มีความเสี่ยงมาก

เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้ลงนามในคำสั่งให้ “ซิตี้แอร์เวย์” หยุดทำการบินชั่วคราว จนกว่าจะแก้ปัญหาขาดทุนและหนี้สินได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายกเลิกเที่ยวบินจนทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินเกิดขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ บริษัท สายการบิน เอเชียน จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “เอเชียนแอร์” ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยศาลสั่งให้หยุดทำการบินไปตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำทรัพย์สินของบริษัทออกจำหน่ายเพื่อใช้หนี้ บริษัทยังไม่ได้จัดส่งงบการเงินประจำปี 2558 ให้ กพท. เพราะจะครบกำหนดต้องจัดส่งในวันที่ 31 มีนาคมนี้

เบื้องต้น กพท.ตรวจสอบฐานะทางการเงินพบว่าบริษัทมีภาระหนี้สินจำนวนมาก มีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมกับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 21,747,916 บาท ทำให้เมื่อ 26 มกราคม 2559 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยเด็ดขาด ขณะนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้ามาใช้อำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทแล้ว

บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “กานต์แอร์” กพท.ได้ติดตามสถานะทางการเงินอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

การตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัทกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 27 ล้านบาทเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินหรืออากาศยานที่มีอยู่เพื่อทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้มากนัก รวมทั้งยังมีภาระหนี้ค่อนข้างมาก มีอัตราส่วนหนี้เท่ากับ 18.30% รวมทั้งยังมีภาระหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ อีกจำนวนมาก ประกอบด้วย 1.หนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมการจัดจราจรทางอากาศกับ บวท. จำนวน 10,216,521 บาท และ 2.หนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินกับบริษัท ท่าอากาศยานประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 1,114,372 บาท

มาถึงคิวตรวจสอบงบการเงินของบริษัท เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการ “เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์” เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2558 พบว่าบริษัทประสบภาวะขาดทุนจนเกินทุนจดทะเบียน มียอดขาดทุนสะสมจำนวน 525,185,257 บาท ขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 250,000,000 บาท

ขณะเดียวกันยังมีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมอื่นๆ จำนวนมาก ประกอบด้วย 1.หนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมกับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 48,750,086 บาท และ 2.หนี้ค้างชำระกับ บวท. จำนวน 106,235,877 บาท

และยังพบว่า “เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์” ถูกอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้รับเงินเดือน การสั่งให้พักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ขณะที่บริษัทยังเปิดรับสมัครพนักงานใหม่เข้ามาทำงานแทน และผู้โดยสารร่วมลงชื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมรวม 74 ราย แบ่งเป็นอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันจากหลากหลายตำแหน่ง เช่น นักบิน ลูกเรือ พนักงาน รวม 32 ราย และผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหายและร่วมลงชื่ออีก 42 ราย ค่าความเสียหายของอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันที่ร่วมลงชื่อ 6,297,644 บาท เฉลี่ยคนละ 196,802 บาท ส่วนค่าความเสียหายของผู้โดยสารที่ร่วมลงชื่อทั้งหมด 965,561 บาท หรือเฉลี่ยคนละ 22,990 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 7,263,205 บาท

นอกจากนี้ทาง “เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์” กำลังโยกย้ายเงิน และทยอยขายทรัพย์สินที่เป็นอะไหล่สำรองที่สนามบิน

เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการออกใบอนุญาตให้มีสายการบินขึ้นมาก

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว มีสายการบินให้บริการเพียง 12 สายการบินเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 41 สายการบิน การเพิ่มขึ้นของสายการบินเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อหวังจะกอบโกยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้นทุกปี แต่การเติบโตของผู้ประกอบการสายการบินที่มากเกินไป ทำให้การแข่งขันรุนแรงเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมาจึงเห็นการลดแลกแจกแถมของสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าใช้บริการจำนวนมาก

การเพิ่มขึ้นที่มากเกินไปนี้ยังถูกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) จับตามองประเทศไทยเป็นพิเศษด้วย จนกระทั่งได้ขอเข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติงานทางการบินของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ระหว่างวันที่ 19-30 มกราคม 2558 เพราะไอเคโอไม่เชื่อว่า ด้วยบุคลากรของ บพ.ที่มีเพียง 11 คน ที่รับผิดชอบออกใบอนุญาตให้กับสายการบินต่างๆ จะสามารถออกใบอนุญาตให้กับสายการบินได้มากขนาดนี้ เนื่องจากการที่ออกใบอนุญาตให้แต่ละสายการบินได้นั้น ต้องตรวจสอบเครื่องบินทุกลำที่จะนำมาให้บริการ นักบิน บุคลากร และเอกสารหลักฐานต่างๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควร

จึงกลายเป็นที่มาของไอเคโอให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของไทยมีปัญหาที่มีนัยสำคัญด้านการบิน (เอสเอสซี) และปักธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลของไทยมีปัญหาเรื่องมาตรฐานด้านการบิน ทำให้ไทยถูกหน่วยงานด้านการบินจากหลายประเทศเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (เอียซ่า) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) เป็นต้น

ขณะเดียวกันสายการบินของไทยที่ให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศถูกตรวจสอบจากประเทศปลายทางอย่างเข้มงวด มีการห้ามและจำกัดสายการบินของไทยบางรายเข้าประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ทำให้รัฐบาลต้องเดินสายทำความเข้าใจกับทุกประเทศที่มีสายการบินของไทยให้บริการ รวมถึงการปรับโครงสร้าง บพ.ครั้งใหญ่เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจน เป็นไปตามมาตรฐานที่ไอเคโอกำหนด แบ่งออกเป็น 4 หน่วยงาน คือ 1.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 3.สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย และ 4.สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต

ขณะเดียวกันได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบิน เพื่อปลดธงแดงของไอเคโอให้ได้โดยเร็ว

ขณะที่สายการบินต่างๆ พยายามยกระดับมาตรฐานของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เช่น กรณีของสายการบินนกแอร์ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้ได้มาตรฐานเอียซ่า จนเกิดความวุ่นวายในองค์กร

มรสุมที่เกิดขึ้นกับสายการบินต่างๆ ขณะนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหา นอกจากปัจจัยสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทแล้ว ยังมีเรื่องมาตรฐานการบิน ทั้งเครื่องบิน นักบิน โครงสร้างองค์กร กพท.จะเข้าไปตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตให้ใหม่อีกครั้ง หากรายไหนไม่ผ่านคงไม่สามารถให้บริการต่อไปได้

น่าสงสัยว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะเหลือสายการบินให้บริการเชิงพาณิชย์จริงๆ อีกเท่าไหร่


ที่มา : นสพ.มติชน

Comments

comments