‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ฉายวิชันขับเคลื่อน TCEB ตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์มูลค่าแสนล้าน | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ฉายวิชันขับเคลื่อน TCEB ตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์มูลค่าแสนล้าน

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ฉายวิชันขับเคลื่อน TCEB ตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์มูลค่าแสนล้าน

ทิศทางการส่งเสริมตลาดไมซ์ของประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ ในมุมมองของประธานบอร์ดคนใหม่ แถมยังเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาก่อน จะทำให้กรอบการทำงานของทีเส็บและภาพรวมในการกระตุ้นตลาดไมซ์จากนี้ แตกต่างจากเดิมอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ

 ลดวัฒนธรรมระบบราชการ

คุณวีระศักดิ์ สะท้อนภาพของทีเส็บ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในองค์กรกว่า 32 ตำแหน่งการทำงานของเขาในปัจจุบัน หลังจากได้เข้ามาดูทีเส็บได้ราวกว่า 3 เดือน โดยเขาเห็นว่า วันนี้ทีเส็บได้เปลี่ยนจากอายุ 7 ปีเป็น 15 ปี ถ้าหากเทียบเป็นคนต้องถือว่ากำลังเป็นสาว เริ่มมีคอมฟอร์ต โซน เริ่มสื่อสารกับผู้ปกครองน้อยลง ก็ต้องทำให้เกิดการสื่อสาร รวมถึงปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ลดวัฒนธรรมในแบบระบบราชการลง ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาเขาใช้เวลาหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ศึกษาเอกสารงานวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งเขาเรียกว่า หูใหญ่ ใจกว้าง เพื่อสะท้อนมุมมองจากภายนอก เพื่อผลักดันให้ทิศทางการส่งเสริมตลาดไมซ์ตอบโจทย์ในการสร้างมูลค่าและคุณค่า ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริงและดีขึ้นกว่าเดิม

นี่เองจึงทำให้เขามองถึงการปรับเปลี่ยนการทำงานในองค์กรก่อน ซึ่งจุดหลักต้องมองให้ตอบโจทย์การทำงาน โดยย้ำว่าเขาไม่ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารทีเส็บ แต่จะทำหน้าที่ในฐานะประธานบอร์ด ทำงานร่วมกับบอร์ด ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะทีเส็บ เป็นองค์การมหาชน ไม่ควรนำวัฒนธรรมในระบบราชการ ที่มีสไตล์แบบคลานเข่าเข้าหาผู้บริหารมาใช้ รวมทั้งทีเส็บต้องเปิดประตูกว้าง สร้างบรรยากาศให้คนเข้ามาหา เข้ามาต่อรองเจรจา เพื่อร่วมกันเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไมซ์ และผลประโยชน์พลอยได้ที่ประเทศจะได้รับ

รวมไปถึงการใช้เครื่องมือในการส่งเสริมตลาดไมซ์ของทีเส็บ ทั้งเครื่องมือที่เป็นการสนับสนุนทางการเงินเพื่อผลักดันให้เกิดการประชุม สัมมนา และเครื่องมือที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน อาทิ ไมซ์เลน ภายในสนามบิน การอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเขาอยากเห็นทีเส็บให้ความสำคัญกับเครื่องมือที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินมากกว่าเรื่องการเงิน นั่นหมายถึงทีเส็บ ต้องทำงานเชิงรุก เช่น เมื่อทีเส็บ ได้รับการติดต่อจากเอกชนที่จัดงานด้านไมซ์ขึ้นมา ทีเส็บ ควรทำหน้าที่ประสานเชิญระดับผู้บริหารของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน มาเปิดงานให้ เป็นคนกลางในการประสานให้ เพราะเอกชนหลายเจ้าที่จัดงานในโลกนี้ ไม่ได้อยากมาขอเงินสนับสนุน แต่อย่างขอความชัดเจนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งทีเส็บต้องเข้ามาช่วยบริหารจัดการในเรื่องนี้ ส่วนในเรื่องของเครื่องมือทางการเงิน แต่ละปีทีเส็บมีงบสนับสนุนหรืออินเซนทีฟในส่วนนี้ให้เอกชนราว 1 พันล้านบาทเพื่อจัดงานด้านไมซ์ แต่ก็กระจายไปมากถึง 600-700 กิจกรรมต่อปี ถามว่าหารกันแล้วแต่ละงานจะได้กันคนละเล็กๆน้อย ผมก็แนะเขาไปแล้วว่าควรจะไปปรับเปลี่ยนเพื่อให้การใช้เครื่องมือทางการเงินมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ก็ต้องค่อยๆขายแนวคิดนี้ให้เขาไปทำ

 หวังดันให้เกิดพ.ร.บ.ไมซ์

นอกจากนี้ผมยังมองเรื่องของการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวกับไมซ์โดยเฉพาะ ที่ก็คล้ายกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดงานด้านไมซ์โดยเฉพาะ เนื่องจากการที่ต้องอยู่ในพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)จัดตั้งองค์การมหาชน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดพริวิเลจในการส่งเสริมตลาดไมซ์เลย ซึ่งหากมีพ.ร.บ.ไมซ์ขึ้นมา ก็จะทำให้การส่งเสริมตลาดไมซ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากจะทำให้ทีเส็บสามารถใช้อำนาจในแบบวันสต็อปเซอร์วิส อำนวยความสะดวกให้เกิดการจัดงานไมซ์ในไทยได้เพิ่มขึ้น และมีการจัดงานที่หลากหลายขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพราะวันนี้มีหลายงานที่จัดในไทยไม่ได้ อย่าง ถ้าจัดงานสักงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อย่าง การจัดงานบาร์บีคิวโลก ประเทศไหนจะนำกุ้งเข้ามา ต้องติดต่อกรมประมง นำหมูเข้ามาต้องติดต่อกรมปศุสัตว์ ซอส ก็เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย. จัดงานแค่ 3 วันรอการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายงานก็ไม่เกิด ทั้งๆประเทศไทยเป็นเมืองผลิตอาหารของอาเซียน

อีกทั้งการมีพ.ร.บ.ไมซ์ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้จัดงานของไทย ไปขยายธุรกิจด้านนี้ในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 ยันสังกัดทีเส็บปัจจุบันดีอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นในเรื่องของโครงสร้างทีเส็บ ที่มีการกล่าวถึงการย้ายสังกัดจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เรื่องนี้ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนผมเข้ามาทำหน้าที่ในทีเส็บ แต่หลังจากได้เข้านั่งดูแลแล้ว เขาได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี โดยได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงโครงการของหน่วยงานที่ดูแลด้านไมซ์เหมือนทีเส็บ ในต่างประเทศ ก็มีทั้งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็มี ไม่มีแนวคิดไหนถูกต้องตายตัว

สำหรับมุมมองของเขา ที่เสนอความเห็นไปในจดหมายเปิดผนึก คิดว่ากลุ่มเป้าหมายของทีเส็บ ไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นกลุ่มบิสิเนส ทราเวลเลอร์ หรือนักเดินทางเพื่อการทำธุรกิจ ซึ่งต่างกันตรงที่กลุ่มลูกค้าของทีเส็บ มาด้วยเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ไม่ใช่มาด้วยเงินของตัวเอง และมาด้วยเป้าหมายด้านวิชาชีพวิชาการ ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ใช้เงินตัวเองในการเดินทางท่องเที่ยว นี่เองจึงทำให้กลุ่มไมซ์จึงเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ใช้จ่ายในร้านอาหารและโรงแรมระดับ 4-5ดาว ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์เข้าประเทศร่วม 1 แสนล้านบาท และไม่ใช่แค่การใช้จ่าย แต่ยังสามารถต่อยอดไปถึงการมองโอกาสในการเข้ามาลงทุนในไทยด้วย

ดังนั้นจากกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน การบริหารจัดดูแลกลุ่มเป้าหมายก็ยังแตกต่างกัน ซึ่งหากทีเส็บต้องไปประมูลงานหรือเชิญชวนองค์กร บริษัทข้ามชาติ ซึ่งบางบริษัทมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าจีดีพีของประเทศไทยเสียอีก การดึงบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ มาจัดงานในไทย หากทีเส็บ ซึ่งมีน้ำหนักกว่าสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี การออกไปแสดงตัวในต่างประเทศ จะมีน้ำหนักกว่าการสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ต้องการการดูแลอย่างดี ไม่ใช่การดูแลเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งหน่วยงานด้านนี้ในหลายประเทศไปฝากไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะมีน้ำหนักที่ดีกว่าในการไปเชิญองค์กรระดับโลกมาจัดงาน

หรือหากต้องไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะมีคนเห็นว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกัน คงต้องถามว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ต้องรับโอนงานที่ดูแล พ.ร.บ.โรงแรม ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลด้วยไหม หรือแม้แต่สนามบิน ที่อยู่ในการดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เข้ามาดูด้วยไหม ผมมองว่าหากรวมเพราะงานเกี่ยวข้องกันต้องมารวมไว้ในที่เดียวกัน มันอาจจะไม่ใช่ประเด็น และถามว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯต้องดูแลการท่องเที่ยวดูแลนักท่องเที่ยวร่วม 30 ล้านคนต่อปี หากเอาทีเส็บไปรวมด้วย การบริหารจัดการดูแลลูกค้ากลุ่มไมซ์ จะมีน้ำหนักในการดูแลได้เต็มที่จริงหรือ ทั้งๆนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์อาจมีจำนวนมากๆ แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก เป็นธุรกิจที่เสียภาษีแบบไม่หมกเม็ดในทุกกระบวนการของการจ้างงาน ยังไม่รวมการต่อยอดการลงทุนหรือการเจรจาทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอันเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือ ก.พ.ร.ที่กำลังดูภาพรวมเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่องค์การมหาชนทั้ง 39 แห่ง จะพิจารณาเรื่องนี้ ต้องให้ก.พ.ร.มองว่าหากปรับแล้วมันตอบโจทย์หรือมีประสิทธิภาพกว่าเดิมจริงหรือไม่ ซึ่งองค์การมหาชนวันนี้เหมือนกำลังเกาะโฟมลอยตัวอยู่ ก.พ.ร.จะคอยยืนดูอยู่บนฝั่ง ขากางเกงไม่เปียก คงไม่ใช่ เพราะวิธีคิดก็คงจะไม่ตรงกันเลย
ทั้งหมดล้วนเป็นมุมมองของคุณวีระศักดิ์ ในการทำงานในทีเส็บ ขณะนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  วันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Comments

comments