อีสานบนดันบิ๊กโปรเจ็กต์ ชงประยุทธ์ลุยสนามบินบึงกาฬ/สะพานข้ามโขง 5 | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > อีสานบนดันบิ๊กโปรเจ็กต์ ชงประยุทธ์ลุยสนามบินบึงกาฬ/สะพานข้ามโขง 5

อีสานบนดันบิ๊กโปรเจ็กต์ ชงประยุทธ์ลุยสนามบินบึงกาฬ/สะพานข้ามโขง 5

appMP40-3139-A-696x380

กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เตรียมหอบแฟ้มดันสารพัดโปรเจ็กต์ ชง “บิ๊กตู่” หลังมีกระแสลงพื้นที่กลางมี.ค.นี้ ไล่ละตั้งแต่ สะพานข้ามโขง5 /สนามบินเลย-บึงกาฬ ขยาย 6 เลนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-หนองคาย / กระเช้าขึ้นภูกระดึงถึงโครงการพระราชดำริห้วยหลวง ฟากทำเนียบยัน 16-18 มี.ค.ทัวร์อุดร-หนองคายแน่

รวมโครงการลงทุนกลุ่มอีสานตอนบน
รวมโครงการลงทุนกลุ่มอีสานตอนบน

ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี มีจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลยและจังหวัดบึงกาฬ ครั้งที่ 1/2559 ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเจ้าภาพจัดประชุม เพื่อติดตามรายละเอียดของโครงการต่างๆที่จังหวัดสมาชิก กรอ.กลุ่มจังหวัดฯ ขอเสนอโครงการเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนและผลักดันโครงการต่างๆให้เกิดขึ้น

ต่อเรื่องนี้ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะจังหวัดหัวหน้ากลุ่มจังหวัดฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดฯทราบว่า ประมาณกลางเดือนมีนาคม2559 ที่จะถึงนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เพื่อตรวจราชการ เยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ และเร่งรัดติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพัฒนาจังหวัดเร่งด่วน ระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 15 เดือนเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน พร้อมกันนี้จะเข้าร่วมการประชุมกับฝ่ายปกครอง เอกชน และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากจังหวัดสมาชิก กรอ.กลุ่มจังหวัดฯ ได้พิจารณาโครงการที่โดดเด่นและเป็นโครงการที่จำเป็นกับแต่ละพื้นที่ โดยโครงการเหล่านั้นไม่เคยบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ มานำเสนอต่อคณะของนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ดีคาดว่าคาดว่าแต่ละจังหวัดได้ทำเอกสารพร้อมที่จะเสนอเรียบร้อยแล้ว อาทิ จังหวัดบึงกาฬ มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ต่อเนื่องจากโครงการเดิม ที่ขณะนี้ได้ดำเนินการไปเป็นบางส่วนแล้ว คงเหลือแต่การก่อสร้างตัวสะพานที่ต้องใช้งบประมาณราว 3.4 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ ซึ่งได้งบประมาณศึกษาเบื้องต้น 18 ล้านบาทแล้ว และทางจังหวัดได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 5 พันไร่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตรและโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 222 บึงกาฬ – อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร งบประมาณ 700 ล้านบาท

กรณีดังกล่าวนั้น นางกุสุมา หงส์ชูตา ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอโครงการว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 จะสามารถช่วยเรื่องการขนส่ง เพราะจากจังหวัดบึงกาฬ ผ่าน สปป.ลาว เวียดนามตอนกลางไปยังท่าเรือน้ำลึกวุ่งอ๋าง ประเทศเวียดนามระยะทางเพียง 315 กม.และสามารถเลยไปยังประเทศจีนภาคใต้ระยะทางประมาณ 1.2 พันกม. จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

ส่วนจังหวัดหนองคาย มีโครงการเร่งรัดดำเนินการต่อเนื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งเป็นแห่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลมีนโยบายอนุมัติให้มีการจัดตั้งแล้ว คือโครงการขยายถนนหนองคาย- อำเภอโพนพิสัย งบประมาณ 1.2 พันล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำห้วยหลวงตอนล่าง

นางมนนิภา โกวิทย์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สำหรับโครงการที่จังหวัดเตรียมเสนอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดเป็นแผนงานอยู่แล้ว เช่นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งของจังหวัดหนองคาย ได้จัดทำไปแล้ว อาทิ เตรียมพื้นที่ไว้แล้ว เหลือเพียงการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการเดิม ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำห้วยหลวงตอนล่างนั้น เป็นโครงการที่เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคต เพราะสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำห้วยหลวงตอนล่างนั้น หากทำเสร็จตามโครงการจะสามารถเอื้ออำนวยพื้นที่เกษตรกรรมใน 2 จังหวัดได้ประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งโครงการย่อคือ จะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่องๆละ 15 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำจากแม่น้ำโขงแล้วนำไปเก็บกักไว้ในลำห้วยหลวง โดยมีประตูระบายน้ำกั้นไว้เป็นช่วงจนถึง ประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว

นายโชคอนันต์ พหล รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าทางจังหวัดได้เตรียมเสนอโครงการก่อสร้างขยายถนน หมายเลข 210 จาก อำเภอเมืองหนองบัวลำภู-จังหวัดเลย เป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ไปจนถึงจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นเส้นทาง อีสต์ -เวสต์คอร์ริดอร์ อีสานตอนบน ที่สามารถทะลุไปยังประเทศเมียนมา อินเดีย ส่วนด้านทิศตะวันออกก็จะผ่านจังหวัดอุดรธานี ไปยังสกลนคร นครพนม ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วน-เวียดนาม และวกไปจีน หรือจากจังหวัดสกลนคร เลี้ยวไปจังหวัดมุกดาหาร ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ถึงเวียดนามได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายธีระศักดิ์ ธรพิทักษ์ไพบูลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวว่า โครงการเร่งด่วนได้แก่โครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากว่าโครงการดังกล่าวสำเร็จตามเป้าประสงค์แล้ว ตนก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยและนักท่องเที่ยวอื่นๆที่จะมีโอกาสได้ขึ้นไปชมความงามของภูกระดึง

“ส่วนที่คัดค้านโครงการก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม จึงค้านเพราะโครงการใหม่ที่ออกแบบมานี้ ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือป่าไม้แต่อย่างใด เสาที่ใช้ขึงสลิงมี 7-8 ต้นเท่านั้น ตัวกระเช้าก็อยู่เหนือต้นไม้”

นอกจากนี้ยังขอผลักดันให้สนามบินเลย ยกฐานะเป็นสนามบินศุลกากร เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจ และเพื่อรองรับเศรษฐกิจอาเซียน ที่เปิด AEC ไปแล้วอีกจุดหนึ่ง จากเดิมที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละ 150 คน ขยายเพิ่มเติมเป็นวันละ 300 คน

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าจังหวัดอุดรธานี มีโครงการเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คือ โครงการขยายถนน 4 ช่องทางจราจร จาก 4แยกทางเลี่ยงเมืองด้านจังหวัดขอนแก่น- 4 แยกหนองคาย เป็น 6 ช่องทางจราจร เพราะปัจจุบันนี้มีรถบรรทุกเทรเลอร์ขนาดใหญ่วิ่งผ่านไปสปป.ลาว และจาก สปป.ลาว ไปยังท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และโครงการขยายถนนช่วงบ้านสามพร้าว- บ้านดอนกลอย อำเภอหนองหาน เพื่อให้เป็นถนนเลี่ยงเมืองเส้นใหม่ ระบายรถไม่ให้ผ่านตัวเมืองอุดรธานีเกินความจำเป็น

ส่วนโครงการที่ค้างและต้องการดำเนินการต่อเนื่องคือ นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวอุดรธานีที่บ้านโนนสูง ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี พื้นที่ 2 พันไร่เศษ ที่ได้รับอนุมัติการจัดตั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรมและได้รับ BOI จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของภาคเอกชน 100% และโครงการถนนวงแหวนรอบ 2 ที่ค้างมาจากหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น การจราจรภายในตัวเมืองและความเจริญของเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก จำนวนรถชนิดต่างๆที่วิ่งผ่านตัวเมืองอุดรธานี มีจำนวนเพิ่มมากกว่าระยะที่ผ่านมามาก จำเป็นที่จะต้องมีถนนวงแหวนอีกรอบหนึ่ง เพื่อระบายรถที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเมืองออกไปจากตัวเมือง เพื่อที่จะได้ลดอัตราการจราจรติดขัดภายในตัวเมืองลง

ทั้งนี้จากที่ประชุมได้มีการนำเสนอรายละเอียดโครงการเบื้องต้นแล้ว นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าฯ อุดรธานี ได้ให้ความเห็นว่า หลายโครงการที่จะนำเสนอนั้น ยังมีรายละเอียดอื่นๆที่ต้องบรรจุเพิ่มเติม จึงขอความร่วมมือจากทุกจังหวัดให้เร่งทำรายละเอียดที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งให้ฝ่ายยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานีโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้จัดทำเป็นเอกสารนำเสนอในครั้งเดียวกัน

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะนำคณะลงพื้นที่ตรวจราชการอีสานตอนบน คาดว่าจะเป็นจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2559 ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจราชการที่จังหวัดแถบภาคอีสานอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ลงพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างมาก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเดินทางไปดูปัญหาเรื่องเกษตรและเรื่องน้ำ อย่างไรก็ดีขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลว่ามีจังหวัดใดในพื้นที่อีสานตอนบนและตอนล่างประสบปัญหาดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

Comments

comments