เข้ม ‘นอมินี’ จีน ฮุบธุรกิจภูเก็ต! | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > เข้ม ‘นอมินี’ จีน ฮุบธุรกิจภูเก็ต!

เข้ม ‘นอมินี’ จีน ฮุบธุรกิจภูเก็ต!

EyWwB5WU57MYnKOuYLbcwewGzP9GlgGFxopR6DTcl3pa3fyfA957lm

(ภาพจาก:AFP)

จากกรณีมีกลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาครอบงำธุรกิจต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต ในลักษณะใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือนอมินี จนเป็นที่หวาดหวั่นกันว่าในอนาคตกลุ่มทุนนักธุรกิจจีนจะเข้ามายึดครองธุรกิจใน จ.ภูเก็ต และจังหวัดแถบอันดามันเป็นส่วนใหญ่นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานมาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า นายนิมิตร ฆังคะจิตร หัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จ.ภูเก็ต ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจท่องเที่ยวตรวจสอบธุรกิจ 51 ราย เป้าหมายใน 6 ประเภทเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีนิติบุคคล 2 รายที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี โดยผู้ถือหุ้นคนไทยยอมรับว่าไม่ได้ลงเงินจริง ได้แจ้งให้นำส่งเอกสารเชิงลึกมาตรวจสอบ ก่อนส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนอีก 49 รายนั้น ไม่พบข้อสังเกต 8 รายจดทะเบียนเลิก 1 ราย และไม่พบกรรมการผู้ถือหุ้น 40 รายได้ส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อ และที่ผ่านมายังคงดำเนินตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้น

นายนิมิตรเปิดเผยอีกว่า นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.ภูเก็ต ได้มอบหมายให้นายประเจียด อักษรธรรมกุล รอง ผวจ.ภูเก็ต ด้านเศรษฐกิจดูแลและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพาณิชย์จังหวัด, พัฒนาธุรกิจการค้า, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด, สรรพากร, จัดหางาน, ที่ดินจังหวัด รวบรวมข้อมูลเตรียมมาตรการตรวจสอบแบบบูรณาการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลตรวจสอบเป้าหมาย ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จ.ภูเก็ต จะมีข้อมูลสำคัญของผู้จดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่และเก่า มีการคัดกรองว่าเข้าหลักเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มีกรรมการผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ตั้งแต่ 1-49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเข้าลักษณะต้องสงสัยเมื่อ 1.กลุ่ม นิติบุคคลที่มีการแก้ไขข้อบังคับ 2.ในกลุ่มที่มีการ เปลี่ยนตัวกรรมการผู้ถือหุ้น เช่น ขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีคนไทยเป็นกรรมการทั้งหมด แต่พอผ่านไป มีการขอแก้ไขให้ต่างชาติเข้ามาแทน เป็นต้น

ส่วนการจำแนกเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงที่เป็นนอมินีทั้ง 2 กลุ่ม นายนิมิตรเผยว่า จำแนกได้คือ 1. กลุ่มนิติบุคคลที่มีการแก้ไขข้อบังคับ และ 2. กลุ่มที่มีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้ถือหุ้นพบว่ามีสูง จะต้องนำรายชื่อดังกล่าวเข้าที่ประชุมจังหวัดทำการตรวจสอบเชิงลึกตามลำดับขั้นตอนจนได้ข้อสรุป สำหรับจำนวนผู้จดทะเบียนนิติบุคคลของ จ.ภูเก็ต ทั้งประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดที่ยังไม่เลิกกิจการปัจจุบันอยู่ที่ 18,978 ราย ส่วนใหญ่เป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว มีจำนวน 7,000 รายที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น ตั้งแต่ 1-49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวเลขสรุปการขอจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2556-2558 พบว่าในปี 2556 มีบริษัทขอจดใหม่ 1,529 ราย ห้างหุ้นส่วนฯ จดใหม่ 244 ราย ปี 2557 มีบริษัทขอจดใหม่ 1,713 ราย ห้างหุ้นส่วนฯ จดใหม่ 241 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 181 ราย) ในปี 2558 มีบริษัท ขอจดใหม่ 1,493 ราย ห้างหุ้นส่วนฯ จดใหม่ 242 ราย (ลดลงจากปี 2557 จำนวน 219 ราย) ส่วนในปี 2559 นี้ยังไม่สามารถคาดเดาว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากมีปัจจัยบวกลบหลายด้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มทุนใน จ.ภูเก็ต นั้น มีการเปลี่ยนจากเดิมที่เคยเป็นกลุ่มชาวรัสเซียกับเกาหลีมาเป็นกลุ่มทุนจากจีนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาวรัสเซีย ประสบปัญหาค่าเงิน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง และจากเดิมเคยเช่าโรงแรมไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ขณะนี้มีการบอกเลิกสัญญาเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงทุนนั้น จะมีการใช้อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกหน้าทำธุรกิจ ปัจจุบันมีการยื่นเรื่องขออนุญาตอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ ต.ฉลอง อ.เมือง มีการสร้างโรงแรมที่พักขนาดนับร้อยห้องและบริเวณใกล้สนามบินนานาชาติภูเก็ต อ.ถลาง กำลังดำเนินโครงการสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ไว้รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยจะเป็นกลุ่มทุนจากจีนลงทุนก่อสร้างนับพันล้านบาท ทั้งนี้ การที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาค่อนข้างมาก เนื่องจากมองเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ไว้สูง และพบว่ายังคงมีการ เติบโตอีกมาก ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน รวมถึงเปรียบเทียบการลงทุนในเมืองใหญ่ในประเทศจีน กลับพบว่าการลงทุนที่ จ.ภูเก็ต จะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก โดยกลุ่มทุนจีนเริ่มเข้ามาช่วงต้นปี 2557 ในช่วงที่ตลาดรัสเซียและยุโรปมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานป้องกันการประกอบธุรกิจในลักษณะเป็นการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินี กับหน่วยงานที่เกี่ยวที่ จ.ภูเก็ต หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ.59 และนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงาน

ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการประกอบกิจการของคนต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นนอมินี หลังการประชุมมีการตรวจสอบเชิงลึกพบการเป็นนอมินีใน จ.ภูเก็ต เพิ่มขึ้นกว่า 95% ของการจดทะเบียนบริษัทโดยผ่านสำนักงานบัญชี และสำนักงานทนายความ หน่วยงานภาครัฐจึงได้ขอความร่วมมือจากสำนัก งานตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบการจดทะเบียนและการจ่ายภาษีผู้ถือหุ้น โดย ปปง.จะเข้ามาตรวจเส้นทางการเงิน มีธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายกว่า 7,000 บริษัท พร้อมทั้งขอให้กรมสรรพากรพิจารณาเพิ่มเจ้าหน้าที่เร่งรัดติดตามงานให้รวดเร็วขึ้น

ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 22 มี.ค. 2559 20:02

Comments

comments