เคาะมาตรการหักลดหย่อนภาษีกิน/เที่ยว กระตุ้นบริโภคดึงร้านอาหารเข้าระบบภาษี | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > เคาะมาตรการหักลดหย่อนภาษีกิน/เที่ยว กระตุ้นบริโภคดึงร้านอาหารเข้าระบบภาษี

เคาะมาตรการหักลดหย่อนภาษีกิน/เที่ยว กระตุ้นบริโภคดึงร้านอาหารเข้าระบบภาษี

appfly-696x380

ครม. ไฟเขียวมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลฯไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท กินช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9-17 เม.ย. พร้อมต่ออายุมาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยวอีก 1 ปีโดยให้นำมาลดหย่อนภาษีได้อีก 1.5 หมื่นบาท หรือรวมสูงสุด 3 หมื่นบาท “อภิศักดิ์” ลั่นเดินหน้าใช้มาตรการภาษีกระตุ้นการบริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และหวังดึงธุรกิจร้านอาหาร-โรงแรม เข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้อง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบวาระตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอใน 2 เรื่อง คือ 1.การต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีด้านการท่องเที่ยว และ 2.การออกมาตรการภาษีใหม่ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในมาตรการตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ คือ 1. การต่อยอดมาตรการด้านท่องเที่ยวจากเดิมที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2558 ซึ่งมติครม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 กำหนดให้มาตรการมีผลต่อเนื่องย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2559 โดยให้บุคคลธรรมดาสามารนำค่าใช้จ่ายทางด้านโรงแรม ราคาแพ็กเกจทัวร์หรือการท่องเที่ยว นำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไปถึงปลายปี 2559 นี้

กรณีดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการนำค่าที่พักสำหรับการฝึกอบรม ที่สามารถนำมาใช้หักภาษีสูงสุดถึง 2 เท่า ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมาตรการนี้จะมีผลย้อนหลังครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31ธันวาคม 2559

สำหรับเรื่องที่ 2 เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวรับช่วงสงกรานต์เปิดโอกาสให้ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว และรับประทานอาหารในร้านอาหาร ระยะเวลามาตรการตั้งแต่วันที่ 9-17 เมษายน 2559 ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 มาตรการแล้ว บุคคลธรรมดาสามารถนำใช้สิทธิ์มาลดภาษีได้สูงสุดถึง 3 หมื่นบาทซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ถึง 2 เด้ง ทั้งนี้จากผลการศึกษาของกรมสรรพากรยืนยันว่า การต่อมาตรการหักลดหย่อนภาษีด้านการท่องเที่ยวรวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมช่วงเทศกาลสงกรานต์จะไม่ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ที่สำคัญยังช่วยทำให้ธุรกิจร้านอาหารตลอดจนที่พักหรือโรงแรม จากเดิมที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง

จากมาตรการนี้เชื่อว่าจะมีธุรกิจดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษี เนื่องจากหากไม่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายร้านค้าหรือธุรกิจบริการเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการท่องเที่ยวและบริโภคของประชาชน ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลจะนำมาตรการทางภาษีเข้ามาส่งเสริมให้คนใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในการใช้จ่ายกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อแต่ยังไม่กล้าที่จะใช้จ่ายหรือบริโภค

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากมาตรการลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีกระตุ้นให้คนซื้อสินค้าและบริการ ล่าสุด ณวันที่ 21 มีนาคม 2559 มียอดขอคืนภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามายังกรมสรรพากรแล้ว 6.31 แสนราย คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ซื้อในช่วงนั้นประมาณ 5.76 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดการยื่นภาษีดังนั้นคาดว่าเมื่อครบกำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคมจะมีการยื่นภาษีเข้ามาเพิ่มมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี ทรวงการคลังยังมิได้บรรจุวาระการนำเสนอขอมติในการเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยคนละ 1 พันบาทให้อยู่ในมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์

ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย แสดงความเป็นห่วงว่าการออกมาตรการดังกล่าวจะกระชั้นชิดเกินไปหรือไม่นั้นว่า ไม่มีปัญหา เพราะร้านอาหารน่าจะทำได้เลยและยังช่วยให้ร้านอาหารเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นด้วย โดยคาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ช่วง 5-7 วันจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 2ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 26% โดยมาจากคนไทยท่องเที่ยวในประเทศราว 2.1 ล้านคน และจากชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว 4.95 แสนคน ทำรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ต่อเรื่องนี้นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผย การขยายมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวไม่เกิน 1.5หมื่นบาทต่ออีก 1ปี แม้จะช้าไปบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีในการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องไปใช้บริการโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ทางด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เผยว่ามาตรการรับประทานอาหารช่วงสงกรานต์สามารถนำมาลดหน่อยภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทนั้นแม้จะดูว่าร้านอาหารเล็ก ๆ จะไม่ได้รับอานิสงค์ แต่ก็เชื่อว่าจะได้รับผลดีทางอ้อม เพราะเมื่อได้ลดหย่อนจากร้านอาหารที่จดทะเบียนมีใบกำกับภาษี ก็จะทำให้มีเงินเหลือมาใช้บริการร้านเล็กๆ อีกทั้งยังมองจะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบ ต่างๆไม่ว่าจะเป็น ไข่ไก่ ผัก เนื้อสัตว์ ฯลฯ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับประโยชน์ เกิดการกระจายรายได้ตามมา

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจอาหาร บริษัทโออิชิ กรุ๊ปฯ ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหารในเครือโออิชิ อาทิ โออิชิ แกรนด์, ชาบูชิ, โออิชิราเมน ฯลฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในส่วนของการรับประทานอาหารนอกบ้านตั้งแต่วันที่ 9-17 เม.ย.59 นั้น ถือว่าเป็นมาตรการที่ออกมาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี หลังจากช่วงที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวส่งผลต่อการจับจ่ายของประชาชนในกลุ่มกลาง-ล่าง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์โออิชิกว่า 70% นั้นหายไปพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าจากมาตรการที่ออกมาจะส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“ต้องบอกว่ามาตรการดังกล่าวออกมาได้ถูกจังหวะ ถูกทาง และถูกคนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนออกมาจับจ่าย ทั้งการซื้อของฝาก รับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งสำหรับคนไทยนั้นมีการจับจ่ายมากกว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะมีระยะเวลายาวนานกว่าจึงเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากมาตรการที่ออกมากระตุ้นในช่วงปีใหม่ที่สามารถสร้างยอดขายให้บริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 5%โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคในระดับกลาง-ล่าง เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้ชะลอการจับจ่ายไปค่อนข้างเยอะเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย”

อย่างไรก็ตามในส่วนของโออิชิเองเชื่อว่าตลอดระยะเวลา 8 วันที่มีมาตรการออกมาจะช่วยให้ภาพรวมตลาดธุรกิจอาหารเติบโตขึ้นเป็นอย่างดี โดยในส่วนของบริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้ถึง 40% จากปกติที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการเติบโตมากกว่าช่วงปกติอยู่แล้วที่ 30% ขณะที่ในส่วนของการออกใบกำกับภาษีนั้นบริษัทมีการเตนียมความพร้อมอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาการออกใบกำกับภาษีล่าช้าแลพรอคิวนานอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2559

http://www.thansettakij.com/2016/04/02/41340

Comments

comments