เอฟเฟกต์ญี่ปุ่นฉุดส่งออก-ทัวร์ระยะสั้น | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > เอฟเฟกต์ญี่ปุ่นฉุดส่งออก-ทัวร์ระยะสั้น

เอฟเฟกต์ญี่ปุ่นฉุดส่งออก-ทัวร์ระยะสั้น

aaaP1-2-3150

พาณิชย์-เอกชน ชี้แผ่นดินไหวแดนซามูไร กระทบส่งออกไทยระยะสั้น คงเป้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่นปีนี้ติดลบที่ 1.5% จากปัจจัยหลักเศรษฐกิจซามูไรยังไม่โงหัว อัญมณีระบุเป็นสินค้าที่กระทบอันดับต้น ๆ ขณะรถยนต์-ชิ้นส่วนอะไหล่เร่งตรวจสอบข้อมูล ผลิตภัณฑ์ยาง-การ์เมนต์รับมีผลชะลอรับมอบสินค้า-เจรจาออเดอร์ใหม่ ส่วนสินค้าไก่มั่นมั่นใจสดใสต่อเนื่อง “อภิรดี”มองเป็นโอกาสส่งออกวัสดุก่อสร้าง ส่วนทัวร์ไทยเปลี่ยนโปรแกรมวุ่น ด้านททท.ห่วงซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงบริเวณเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีศูนย์กลางที่จังหวัดคุมาโมโตะเมื่อวันที่ 14 เมษายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 17 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี เมื่อปี 2554 และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิทางตะวันออกของเกาะฮอนชู อย่างไรก็ดีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ”พบว่าได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยในหลายแง่มุม เฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว

 รถยนต์-ชิ้นส่วนเร่งตรวจสอบ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ กระทบกับโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ของฮอนด้าที่เมืองนี้ ซึ่งขณะนี้ยังปิดทำการอยู่ ส่วนจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทยหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด แต่ในเบื้องต้น คาดว่า ไม่น่าส่งกระทบเท่าไรนัก เนื่องจากการประกอบรถจักรยานยนต์ในไทย ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเกือบ 100 % ส่วนการประกอบรถบิ๊กไบค์ในไทยนั้น กำลังตรวจสอบว่า ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นและได้รับผลกระทบหรือไม่ ที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปญี่ปุ่น มีมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านบาท (ปี 2557) โดยส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอีโคคาร์ไปขายในญี่ปุ่นด้วย

ขณะเดียวกันบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่17 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีข้อความว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ ทำให้ฐานการผลิตของโตโยต้า ไดฮัทสุ และฮีโน่ ภายในเกาะคิวชู ได้รับกระทบจากซัพพลายชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ จึงชะลอการผลิตเป็นการชั่วคราว ระหว่าง 18-23 เมษายน 2559

 อัญมณีโดนอันดับต้นๆ

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย แน่นอนว่าผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ชะลอตัวอยู่แล้ว อาจแย่ลงไปอีก รวมถึงกระทบด้านจิตวิทยาทำให้ชาวญี่ปุ่นระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งในส่วนของสินค้าอัญมณีฯ ไม่ใช่สินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคจะชะลอ/งดการใช้จ่ายทางด้านนี้เป็นอันดับต้นๆ

 ผลิตภัณฑ์ยางติดปัญหาขนส่ง

สอดรับกับ ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางซึ่งมียางล้อรถยนต์เป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกยางพาราที่เป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ในญี่ปุ่นในช่วงนี้ คงได้รับผลกระทบเรื่องการรับมอบสินค้า เนื่องจากมีโรงงานผลิตรถยนต์ และยางล้อรถยนต์หลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นครั้งนี้ได้หยุดผลิตชั่วคราว จากมีปัญหาเรื่องเส้นทางคมนาคมที่ใช้ในการขนส่งสินค้าได้รับความเสียหาย

“ช่วงนี้เส้นทางคมนาคมของเขาได้รับความเสียหาย โรงงานประกอบรถยนต์ก็หยุดชั่วคราวจากชิ้นส่วนและอะไหล่นำเข้า เช่นยางรถยนต์บริดจสโตน ซูมิโตโม ดันล็อป ที่ตั้งโรงงานในไทยคงต้องชะลอการส่งมอบ รวมถึงชิ้นส่วนที่ผลิตในญี่ปุ่นที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหาในการขนส่ง สต๊อกที่มีอยู่ก็มีน้อย ผลิตได้ไม่กี่วันก็หมด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากทุกอย่างเข้าที่เข้าทางเขาคงเร่งนำเข้า และเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบได้ ในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ที่เขาเร่งตีคืนได้หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป”

 ไก่ยังสดใสลุยรุกตลาดเพิ่ม

ขณะที่นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้คงไม่กระทบกับการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นการบริโภค ขณะเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะจุด ไม่ได้เกิดกับเมืองหลักอย่างโตเกียวหรือโอซากา เชื่อว่าหากเหตุการณ์เข้าสู่ปกติแล้วการบริโภคของชาวญี่ปุ่น รวมถึงต่างชาติจะยังเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นตามเดิม ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารรวมถึงไก่เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในปี 2558 ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยราว 3.1 แสนตัน แยกเป็นไก่แปรรูป 2.2 แสนตัน และไก่สดแช่แข็ง 9 หมื่นตัน ในปี 2559 คาดญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งไก่สดคาดจะมีการนำเข้าเพิ่มอีก 2-3 หมื่นตันจากปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มเป็น 1.1-1.2 แสนตัน

 การ์เมนต์ชะลอเจรจา

นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตลาดหลักของการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากไทย(ปี 2558 มีสัดส่วนประมาณ 15%) สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาในระยะสั้น โดยผู้นำเข้าอาจชะลอการเจรจาซื้อขาย แต่คงกระทบไม่มาก เพราะศูนย์กลางการเจรจาซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ที่โตเกียว หรือโอซากาซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็มีการนำเข้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าจากจีน

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ไม่กระทบส่งออกไทยในภาพรวมมาก แต่ที่มีผลคือเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการส่งออกการ์เมนต์ของไทยไปญี่ปุ่นให้มากขึ้น ในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีคณะภาคเอกชนในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่นๆ ประมาณ 50 ราย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการการ์เมนต์ภายใต้การนำของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเดินทางไปแมตชิ่งธุรกิจกับผู้ประกอบการของญี่ปุ่น เป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดการส่งออกไปญี่ปุ่น รวมถึงที่เขาสนใจจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและฐานการตลาดรุกตลาดอาเซียน และในอีก 4-6 เดือนข้างหน้าจะมีคณะผู้ประกอบการคณะใหญ่จากญี่ปุ่นมีแผนจะเดินทางมาไทยเพื่อซอร์ซซิ่งสินค้าในไทย และร่วมมือใช้ไทยเป็นฮับบุกอาเซียน

 พาณิชย์คงเป้าตลาดญี่ปุ่น

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นครั้งล่าสุดนั้น ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นนั้น ยังไม่มีผลเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าบางรายการของไทยเช่นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนต่างๆ ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปญี่ปุ่นกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในภาพรวมการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นปีนี้ตั้งเป้าอัตราขยายตัวรูปดอลลาร์สหรัฐฯไว้ที่ -1.5%(จากปี 2558 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 2.007 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.6%) ซึ่งล่าสุดยังคงเป้าหมายไว้ตามเดิม

 ทัวร์ไทยเปลี่ยนโปรแกรมวุ่น

นางสาวปัญณภัค ไชยแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท สยาม ออร์เชิร์ด กรุ๊ป ซึ่งทำทัวร์ตลาดเอาต์บาวด์ พาคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบนักท่องเที่ยวคนไทยยกเลิกการเดินทางไปญี่ปุ่น ส่วนเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจองการเดินทางไปในพื้นที่ จังหวัดคุมาโมโตะ เกาะคิวชู และบริเวณใกล้เคียงที่อยู่ทางตอนใต้ ได้มีการปรับโปรแกรมการเดินทางไปยังพื้นที่อื่นแทน เช่น ซัปโปโร โตเกียว โอซากา ซึ่งยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปรกติ ขณะเดียวกันพบว่ายังมีการจองโปรแกรมการเดินทางในช่วงเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้บริษัทได้มีการโปรโมทขายเทศกาลชมดอกไม้ เช่น ลาเวนเดอร์ วิสทีเรีย เบบี้บูลอาย เป็นต้น

ส่วนทางด้านแหล่งข่าวจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย(เจเอ็นทีโอ) เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีแจ้งข่าวสาร ผ่านทางเว็บไซต์ขององค์กรแบบวันต่อวัน เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ส่วนการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้นทั้งเกาะเหนือ ตอนกลาง หรือพื้นที่อื่น ๆ ยังเดินทางได้ ยกเว้นเกาะคิวชู ให้หลีกเลี่ยงไปก่อน ส่วนตัวเลขคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 พบว่ามีจำนวน7.96แสนคน ส่วนปี 2559 ในช่วง 2 เดือนแรกคือมกราคมมีจำนวน 6.1 หมื่นคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 36.5 % และเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 6.13 หมื่นคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 39%

 ททท.ห่วงซ้ำเติมศก.ญี่ปุ่น

ทางด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยนั้น นายศุกรีย์ สิทธิวนิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่าได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบ ซึ่งต้องประเมินอีกครั้งใน 1-2 เดือน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ชะลอตัวอยู่แล้วอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลต้องนำเงินไปฟื้นฟูประเทศ รวมถึงกำลังซื้อของคนญี่ปุ่นที่จะชะลอตัวไปตามเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยจะมายังโตเกียว โอซากา และซัปโปโร มากกว่าทางตอนใต้ ขณะที่การติดตามยอดบุ๊กกิ้งล่วงหน้าขณะนี้ไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมเป็นการจองการเดินทางแบบกะทันหันหรือลาสมินิตเป็นจำนวนมาก

สอดคล้องกับนายเอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวไทย –ญี่ปุ่นระบุว่า คงต้องรอหลังจากนี้ 1-2 อาทิตย์ดูว่านักท่องเที่ยวยังมีความมั่นใจแค่ไหนในการเดินทางท่องเที่ยว ต่างประเทศ เพราะยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาและต้องดูว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะขยายไปยังพื้นที่อื่นหรือไม่ ซึ่งต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดซึ่งหากคนญี่ปุ่นไม่เดินทางท่องเที่ยวก็คงกระทบตลาดเอาต์บาวด์ทั้งระบบมิใช่ไทยประเทศเดียว

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 – 23 เมษายน พ.ศ. 2559

http://www.thansettakij.com/2016/04/22/46073

 

Comments

comments