ก.ท่องเที่ยวเร่งทำแผนปี′60-64 รับเทรนด์”เที่ยวไทย”เติบโตเร็ว | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ก.ท่องเที่ยวเร่งทำแผนปี′60-64 รับเทรนด์”เที่ยวไทย”เติบโตเร็ว

ก.ท่องเที่ยวเร่งทำแผนปี′60-64 รับเทรนด์”เที่ยวไทย”เติบโตเร็ว

ก.ท่องเที่ยวฯเดินเครื่องจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 เสร็จตุลาคมนี้ รุกเพิ่มศักยภาพการทำงานเชิงเศรษฐกิจ รับเทรนด์ท่องเที่ยวไทยขยายตัวก้าวกระโดดในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรภายใน จัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา” ขับเคลื่อนท่องเที่ยวโตตามเป้ารายได้ใหม่ 2.46 ล้านล้านบาท

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยมุ่งพัฒนาภาคการท่องเที่ยวไทยซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมเพิ่มศักยภาพการทำงานสอดรับกับบทบาทเชิงเศรษฐกิจ หลังจากในช่วง 14 ปีที่ผ่านมามีปริมาณนักท่องเที่ยวเติบโตสูงถึง 3 เท่าตัว โดยในปี 2544 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเป็น 30 ล้านคนในปี 2558

“ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวมีรายได้คิดเป็น 14% ของจีดีพีประเทศ เฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปีที่แล้วทำรายได้สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท คาดว่าสัดส่วนภาคการท่องเที่ยวต่อจีดีพีจะพุ่งสูงขึ้นอีกมากในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ขณะที่ภาพการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวไทยในปีนี้รัฐบาลเน้นเพิ่มรายได้จากตลาดในประเทศ เพื่อดันรายได้ท่องเที่ยวโดยรวมให้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ที่ 2.46 ล้านล้านบาท”

กระทรวงจึงต้องเร่งปรับนโยบายการบริหารงาน รวมถึงการวางโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย เน้นการเติบโตจากรากฐาน หลังพบว่า หน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางการท่องเที่ยว 2 สำนักงาน ได้แก่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา มีขอบข่ายการทำงานกว้างมาก ทั้งทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยว วางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว วางกรอบงบประมาณ และประสานกับหน่วยงานเชิงเศรษฐกิจของกระทรวงอื่น แต่ทั้ง 2 สำนักงานมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการทำงานเชิงนโยบาย

กระทรวงจึงเตรียมเสนอให้มีการควบรวม 2 สำนักงานดังกล่าวขึ้นมามีสถานะเทียบเท่ากรม ภายใต้ชื่อสำนักงานเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา หากมีการยกระดับสำนักงานนี้แล้วเสร็จ ต่อไปจะเข้ามามีบทบาทเป็นเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) รวมถึงเข้าไปดูแลแผนการพัฒนาเขตการท่องเที่ยวที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว 5 คลัสเตอร์ และกำลังจะอนุมัติเพิ่มรวมเป็น 8 คลัสเตอร์ทั่วประเทศ

และในเร็ว ๆ นี้ จะมีการประกาศกฎกระทรวง อนุมัติแต่งตั้งสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดให้มีครบทั้ง 77 จังหวัด และปรับการทำงานให้ทุกสำนักงานมีอำนาจเต็มในการบริหารงบประมาณ จากเดิมที่สำนักงานท่องเที่ยวฯ ซึ่งมีอยู่ 31 สำนักงาน จังหวัดรองต้องทำเรื่องเบิกงบฯผ่านจังหวัดหลัก ทำให้การผลักดันนโยบายระดับจังหวัดต้องล่าช้าไป

ขณะที่กรมการท่องเที่ยวให้เดินหน้าทำงานต่อตามปกติไม่สามารถยุบได้เพราะยังมีภารกิจในเชิงกฎหมายผูกพันอยู่อีกหลายเรื่อง โดยจะเข้าไปคุมเข้มในเชิงการสร้างผลงานให้เด่นชัดกว่าที่ผ่านมาแทน ทั้งนี้ ยอมรับว่า การไม่มีอธิบดีมาขับเคลื่อนงานเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้การขับเคลื่อนงานช้าลง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments