จับทิศหลักสูตร “เรือสำราญ” พร้อมผลิตคนป้อนตลาดรับธุรกิจบูม | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > จับทิศหลักสูตร “เรือสำราญ” พร้อมผลิตคนป้อนตลาดรับธุรกิจบูม

จับทิศหลักสูตร “เรือสำราญ” พร้อมผลิตคนป้อนตลาดรับธุรกิจบูม

14581961631458196187m

โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) และท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่ให้มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวทางน้ำของไทย นอกเหนือจากการหาพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือ เพื่อกระตุ้นและสร้างความสนใจทั้งในและต่างประเทศผ่านการจัดงานมหกรรมเรือสำราญและมาริน่า หรือไทยแลนด์ ยอชต์ โชว์ 2016 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่นอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ยังทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีนาของอาเซียน (Thailand : Marina Hub of ASEAN)

เพราะประเทศไทยมีท่าเทียบเรือยอชต์ 11 แห่ง กระจายอยู่ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต, กระบี่, ตราด, ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่มีท่าเทียบเรือครุยส์เป็นการเฉพาะ โดยต้องเทียบท่าผ่านท่าเทียบเรือสินค้า เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต กระนั้นจากกำหนดการท่องเที่ยวด้วยเรือครุยส์ในปี 2558 ที่แจ้งไว้ล่วงหน้า พบว่ามีเรือครุยส์เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จอดแวะพักที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยประมาณ 2 วัน

หากสแกนธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเรือทั้งสองรูปแบบ มีทั้งท่าเทียบเรือ และธุรกิจอื่นอย่างร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม หรือเมื่อมองถึงบนเรือจะมีพนักงานแผนกต่าง ๆ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานทำความสะอาด พนักงานในห้องครัว เป็นต้น เรียกได้ว่าธุรกิจเรือยอชต์และเรือครุยส์ต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก เพื่อรองรับกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในแวดวงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องผลิตคนรองรับกับตลาดแรงงานที่มีความต้องการอย่างมาก

ค่าดูแลเรือ1 แสนบาท/เดือน

“ธน ธราดลภาพ” ผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต โบ๊ท ลากูน จำกัด ฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมของธุรกิจท่าเทียบเรือของ จ.ภูเก็ตว่ามีเรือที่จอดเทียบท่าเดือนละประมาณ 1,000 ลำ จำนวนนี้มาจอดที่ภูเก็ต โบ๊ท ลากูนประมาณ 300 ลำ สัดส่วนเรือของคนต่างชาติและคนไทยอยู่ที่ 70 : 30 ซึ่งการจอดเรือแต่ละครั้งใช้ระยะเวลานาน โดยค่าจอดเรือเดือนละ 5 หมื่นบาท หากรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดูแลเรือรวมแล้วประมาณ 1 แสนบาท/เดือน นอกจากเป็นท่าจอดเรือภูเก็ต โบ๊ท ลากูน ยังมีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับผู้เดินทางกับเรือยอชต์ที่มาท่องเที่ยวในไทย

เพราะบุคลากรของที่นี่มีไม่ต่ำกว่า 200 คน คาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าต้องขยายเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 500 คน โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรือยอชต์ถือว่าหาคนมาทำงานได้ยาก คนไทยมีองค์ความรู้ด้านนี้น้อยมาก เพราะคนไทยที่เล่นเรือยอชต์มีจำนวนน้อย และเรือส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผมมองว่าภาครัฐควรสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้ด้านเรือยอชต์ให้มากขึ้น พร้อมเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษให้แข็งแกร่ง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

“สำหรับอัตราการเติบโตของบริษัทเฉลี่ยปีละ 5-10% ปัจจัยเกื้อหนุนคือเรื่องการท่องเที่ยวและกฎหมาย หากศุลกากรและกรมเจ้าท่าอนุญาตให้เรือต่างชาติสามารถอยู่ได้นานขึ้น จะส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ จ.ภูเก็ตมีการเปิดกฎหมายพิเศษส่งเสริมการท่องเที่ยวที่อนุญาตให้เรือยอชต์สามารถเข้ามาอยู่ในไทยนานขี้น ส่วนปัจจัยลบของธุรกิจนี้ไม่มี เพราะเราจับตลาดกลุ่มบน แม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเรือยอชต์ยังมีค่าใช้จ่าย เพราะต้องจอดเรืออยู่ โดยภูเก็ต โบ๊ท ลากูนมีแผนขยายไปเปิดท่าเทียบเรือแห่งใหม่ที่ จ.กระบี่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพ และยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกที่เข้าไปเปิดตลาดในพื้นที่นั้น”

เร่งปั้นช่างซ่อมบำรุงเรือ

หนึ่งในอาชีพที่นับว่าเป็นที่ต้องการและเป็นสาขาซึ่งขาดแคลนคนในปัจจุบัน คือ ช่างซ่อมบำรุงเรือ ด้วยจำนวนเรือยอชต์ที่มีอยู่นับ 1,000 ลำ แต่สวนทางกับจำนวนผู้เรียนหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรงมีน้อยมาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะอาชีพช่างซ่อมบำรุงเรือเป็นงานที่หนัก อย่างไรก็ดี มีวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ตซึ่งเป็นหนึ่งสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านช่างซ่อมบำรุงเรือเพื่อป้อนคนให้กับตลาดแรงงาน

“รุ่งทิวาสมรักษ์” อาจารย์หัวหน้างานสาขางานซ่อมบำรุงเรือ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ตบอกว่า เราเปิดทำการสอนหลักสูตรนี้มาตั้งแต่ปี 2549 มีการร่วมมือกับสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 30 แห่ง ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยรับนักศึกษาปีการศึกษาละ 20 คน

“เราจัดการศึกษาระบบทวิภาคี คือมีการเรียนรู้ด้านวิชาการในวิทยาลัยควบคู่ไปกับการฝึกงานจริงอย่างเข้มข้นในสถานประกอบการ โดยระดับ ปวช. 2 ภาคเรียนที่ 3-4 และระดับ ปวช.3 ภาคเรียนที่ 5 นักเรียนของเราจะเข้าไปฝึกงานกับสถานประกอบการที่มีความร่วมมือกับวิทยาลัย สำหรับการทำงานของนักเรียนจะมี 3 สถานี คือ สถานีงานตัวเรือ คานเรือ มาริน่า สถานีงานเครื่องยนต์เรือ และสถานีงานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเรือ”

เมื่อนักเรียนเรียนจบระดับ ปวช. สามารถทำงานกับบริษัทซ่อมบำรุงเรือได้ทันที เพราะถือว่ามีทักษะและความรู้ความสามารถครบถ้วน รวมถึงมีประกาศนียบัตรจากสถานประกอบการการันตีมาตรฐานการทำงานของผู้เรียน โดยเงินเดือนแรกเข้าเริ่มต้นเดือนละ 12,000 บาท หรือหากต้องการศึกษาต่อเฉพาะทางในระดับ ปวส.สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กระดับ ปวช.ที่เข้าสู่การเป็นช่างซ่อมบำรุงเรือมีเพียงปีละ 3-4 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเรียนต่อระดับที่สูงขึ้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อตลาดแรงงานที่มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงเรืออย่างน้อยปีละ 100 คน

ศรีปทุมส่งออก น.ศ.สู่ ตปท.

ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาจากการสำรวจพบว่า บางมหาวิทยาลัยมีการเปิดสอนเกี่ยวกับเรือสำราญ โดยส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในรายวิชาที่บรรจุไว้ในสาขาวิชาด้านการจัดการการท่องเที่ยว และการโรงแรม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดหลักสูตรนี้โดยเฉพาะในชื่อสาขาวิชาการจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ

“ดร.ยุพวรรณนังคลาภิวัฒน์” รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมมองว่า ธุรกิจเรือสำราญก็เหมือนโรงแรมลอยน้ำ โดยแรกเริ่มมองว่าหลักสูตรการจัดการโรงแรมมีการเปิดกันเยอะมาก น่าจะปรับเปลี่ยนใหม่ด้วยการส่งเด็กไปทำงานบนเรือ เพราะจำนวนคนไทยไปทำงานบนเรือยังมีน้อย ซึ่งมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ด้วยเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต และเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งยังได้ท่องเที่ยวและทำงานไปในตัว ซึ่งตอนนี้มีนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนี้ประมาณ 100 คน และปีการศึกษา 2559 มีผู้สนใจแสดงความจำนงเข้าเรียนต่อแล้ว 180 คน

“แต่ละปีมีการสร้างเรือสำราญใหม่ประมาณ 15 ลำ ซึ่งคนก็นิยมเดินทางท่องเที่ยวทางเรือมากขึ้น โดยตำแหน่งงานบนเรือก็เหมือนกับงานโรงแรม และเท่าที่ทราบจาก Head Hunter คือเขาต้องการตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ และพนักงานทำความสะอาดห้องพักอย่างมาก ตำแหน่งละ 300 คน/ปี สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุมเมื่อผลิตนักศึกษาแล้วจะส่งไปทำงานบนเรือครุยส์ในต่างประเทศ โดยเงินเดือนของพนักงานบนเรือมีฐานเงินเดือนที่ยังไม่รวมค่าบริการอยู่ที่ 70,000 บาท/เดือน แต่หากเป็นพนักงานเสิร์ฟในโรงแรมจะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท/เดือน พนักงานทำความสะอาดห้องพักอยู่ที่ 39,000 บาท/เดือน”

ทั้งนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรือยอชต์และเรือครุยส์ จึงมีความน่าสนใจและน่าจะทวีการเติบโตอย่างยิ่งในอนาคต

 

updated: 18 มี.ค. 2559 เวลา 07:45:30 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1458196163

Comments

comments