ชิงเค้กการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 1.5 หมื่นล้าน มีนาคมขายซองประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ล็อตแรก | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ชิงเค้กการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 1.5 หมื่นล้าน มีนาคมขายซองประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ล็อตแรก

ชิงเค้กการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 1.5 หมื่นล้าน มีนาคมขายซองประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ล็อตแรก

“ทอท.” เร่งเครื่องประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ประเดิมปีนี้ 3 สัญญามูลค่า 1.5 หมื่นล้าน บิ๊กรับเหมาต่างชาติจีนและอินโดนีเซียรุมตอม คาดขายซองเดือนมี.ค.นี้ ตามแผนเสร็จทั้งหมดปี 62 รับผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี เที่ยวบิน 79 ไฟลต์ต่อชั่วโมง ทั้งยังเร่งลงทุนอาคาร 2 และรันเวย์ 3 ควบคู่ ด้านไออาต้าจี้ไทยเร่งขยายสนามบินและรันเวย์ที่ 3

สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2
สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2

โครงการการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 มีความล่าช้ามาหลายรัฐบาล กระทั่งล่าสุด รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับให้ทันกับอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่มีจำนวนมากกว่า 45 ล้านคนต่อปี โดยมติคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายโครงการของรัฐ (คตร.) ได้อนุมัติแผนการดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 สัญญา

น.ท. สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าของการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ว่าในปีนี้จะสามารถเปิดประกวดราคา การจ้างงาน ใน 3 สัญญา ภายใต้กรอบวงเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 7 สัญญา ประกอบไปด้วย

1. งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคาร เทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) 2.งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งทั้ง 2 สัญญาจ้างก่อสร้างนี้ มีกรอบงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และ3.งานจัดงานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) เป็นเวลา 38 เดือน วงเงินราว 1 พันล้านบาท ที่จะนำรายละเอียดของงานเสนอ คตร.พิจารณาได้ในเร็วๆนี้

จ้างที่ปรึกษาพันล้าน

ทั้งนี้ 2 สัญญาจ้างก่อสร้างที่ผ่านพิจารณาจากคตร.แล้ว ทอท.จะเริ่มขายซองประกวดราคาในสิ้นเดือนมีนาคมต่อเนื่องต้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะจัดหาผู้รับจ้างได้ในราวเดือนกรกฎาคม เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างอย่างช้าในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งก็สอดรับการก่อสร้างในโครงการระบบการให้บริการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านท่อแบบHydrant เพื่อรองรับการขยายเฟส 2 ที่ดำเนินการโดยบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO)ที่ทางบริษัทแจ้งว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ส่วนสัญญางานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) หากคตร.เห็นชอบเมื่อไหร่ ก็จะดำเนินการประกาศประกวดราคาและจัดหาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม 2559 ก่อนงานก่อสร้าง 1 เดือน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของสัญญาที่เหลืออีก 4 งาน ได้แก่ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) , งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก,งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ,งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) ยังคงปฏิบัติตามแผนเดิมจะจัดหาผู้รับจ้างและเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี2560 เพื่อให้โครงการก่อสร้างทั้งหมดและเปิดใช้งานในปี 2562

 จีนและอินโดฯสนใจประมูล

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการประกวดราคาใน 2 สัญญาจ้างก่อสร้าง ที่ผ่านการพิจารณาของคตร.ไปแล้ว ทอท.เปิดกว้างให้ผู้สนใจที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีการขึ้นทะเบียนผู้ค้าถูกต้อง มีผลงานด้านโยธา และ อาคาร มาร่วมเสนอตัวได้ ซึ่งเฉพาะที่เคยรับงานของทอท.มาก่อนก็มีกว่า 14 บริษัท ส่วนบริษัทจากต่างประเทศก็มีการแสดงความสนใจเข้ามา เช่น วิสาหกิจจากจีน 2 ราย จากปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินก่อสร้างรายใหญ่และมีประสบการณ์ในการก่อสร้างสนามบิน ได้แสดงความสนใจงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับอาคาร นอกจากนี้ยังมีวิสาหกิจของประเทศอินโดนีเซีย สนใจงานระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งทอท.ได้แนะนำว่าจะต้องไปร่วมมือกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทย เพราะเงื่อนไขในการยื่นประกวดราคาต้องมีบริษัทของคนไทยจะต้องเป็นผู้นำหลัก

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการนั้นขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการทำราคากลาง รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิ์ยื่นประกวดราคา เบื้องต้น อาทิ ในเรื่องของสัญญาก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยาน จะต้องมีประสบการณ์ผลงานก่อสร้างลานจอดทางวิ่งทางขับอย่างน้อย 440 ล้านบาท มีผลงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ 3 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป มูลค่าโครงการไม่น้อยว่า 1,100 ล้านบาท ส่วนงานสาธารณูปโภค ก็จะระบุว่าต้องมีผลงานเรื่องระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ มานำเสนอผลงานด้วย เป็นต้น

 หั่นงบก่อสร้างเหลือ4.2หมื่นล้าน

สำหรับกรอบงบประมาณในการขยายการลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 กรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อปี 2553 อยู่ที่ วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท เป็นงบที่ใช้เป็นค่าก่อสร้างอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท และก่อนหน้านี้ทอท.สามารถลดงบลงทุนก่อสร้างไปได้อีก 6 พันล้านบาท ทำให้งบก่อสร้างที่ใช้ในโครงการนี้จะอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง) แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว ยังระบุอีกว่า แผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ปัจจุบันยังยึดอยู่ที่ 7 สัญญา แต่ขณะนี้เมื่อบอร์ดเห็นชอบแผนแม่บทท่าพัฒนา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนเป็น 120 ล้านคนในระยะยาว เพื่อให้สามารถรองรับได้จนถึงปี 2578 จึงผลักดันให้เร่งลงทุนที่กำลังดำเนินการเฟส 2 หลังผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้ว ทอท.ก็จะผลักดันโครงการลงทุนใหม่ควบคู่กันอีก 2 งาน คือ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2และรันเวย์ 3 ด้วย แหล่งข่าวกล่าว

  ระยะยาวรองรับ 120 ล้านคน

ต่อเรื่องนี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า นอกจากคตร.มีมติผ่าน 2 สัญญา ขยายสุวรรณภูมิระยะที่ 2 บอร์ดทอท.ยังได้เห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ฉบับปรับปรุง) เนื่องจากได้มีการคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ซึ่งพบว่าในปี 2563-2568 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 71.38 ล้านคน และ 86.18 ล้านคน ตามลำดับ และจะสูงเพิ่มขึ้นโดยในปี 2578 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารถึง 120 ล้านคน สำหรับเที่ยวบินในปี 2563 และ 2568 มีเที่ยวบินจำนวน 393,785 และ 449,044 เที่ยวบิน ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจนถึงในปี 2578 มีเที่ยวบินถึง 561,332 เที่ยวบิน ทางด้านสินค้าปี 2563 และ 2568 มีสินค้ารวม 1.39 และ 1.54 ล้านตัน ตามลำดับ และในปี 2578 จะมีปริมาณ 1.89 ล้านตัน

ส่งผลให้แผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะทำแผนพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบิน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. แผนพัฒนาระยะสั้น คือเฟส 2 ที่ได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ รองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 79 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 90 ล้านคนต่อปี และรองรับได้จนถึงปี 2568 โดยในกลุ่มงาน Airside ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 งานปรับปรุงคุณภาพดินสำหรับลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน 14 หลุมจอดพร้อมระบบทางขับ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายไปยังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ในกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B

2. แผนระยะกลาง จะเป็นการพัฒนาต่อเนื่องกับระยะสั้น มีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 89 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 105 ล้านคนต่อปี และสามารถรองรับได้จนถึงสิ้นปี 2573 ในกลุ่มงาน Airside ประกอบด้วยงานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน จำนวน 14 หลุมจอดพร้อมระบบทางขับ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ และการปรับปรุงคุณภาพดินสำหรับทางวิ่งเส้นที่ 4 เป็นต้น ส่วนกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2

3. แผนระยะยาว จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากระยะกลาง มีเป้าหมายรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 99 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับได้จนถึงปี 2578 ในกลุ่มงาน Airside มีงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภครองรับควบคู่ไปด้วย รวมทั้งยังมีการจัดผังการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย

  ไออาต้าห่วงสนามบินแตก

ด้าน นายโทนี่ ไทเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยระบุว่า อุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยและสร้างความเชื่อมโยงทางธุรกิจระดับโลก คาดการณ์ว่าการบินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันคิดเป็นการจ้างงานราว 2 ล้านตำแหน่ง และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับไทย และภายในปี 2578 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ล้านตำแหน่งและมูลค่าเศรษฐกิจ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเติบโต 83% นี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้เป็นวงกว้าง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้อย่างเต็มศักยภาพถ้าไม่มีการแก้ปัญหาสำคัญในด้านความปลอดภัย ความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และราคาอย่างเร่งด่วน

ทั้งยังระบุว่าในด้านความปลอดภัย จำเป็นต้องมีการแก้ไขความกังวลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (FAA) นายไทเลอร์กล่าวว่า การประเมินเหล่านี้ดูสิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่ใช่สายการบิน

“รัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อสนับสนุนธุรกิจการบินที่เป็นกระดูกสันหลังของการเดินทางและท่องเที่ยว “นายไทเลอร์กล่าว

ด้านการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ ไออาต้าเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขความกังวลด้านความปลอดภัยของจุดที่พื้นผิวอ่อนตัวบน tarmac, taxi way และ apron area อย่างถาวร เครื่องบินติดอยู่บนพื้นผิวที่อ่อนจากผลของการใช้วัสดุต่ำกว่ามาตรฐานอยู่บ่อยครั้ง เสี่ยงต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน ยานพาหนะบนพื้นดิน และเครื่องบิน นอกจากนี้ การซ่อมบำรุงพื้นผิวบ่อยครั้งทำให้เกิดการจราจรติดขัด

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิเผชิญปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร การรองรับผู้โดยสารกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันเกินกว่าความจุที่ออกแบบมาเพียง 45 ล้านคน ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี การเร่งแผนขยายอาคารผู้โดยสารเฟส 2 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่สนามบินต้องการ ไออาต้ายังขอเรียกร้องให้เดินหน้าแผนการสร้างรันเวย์ที่ 3

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  วันที่ 21 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Comments

comments