นวทรรศน์ฯขยับต่อยอด “ฟู้ดทัวร์” แตกแบรนด์ “สไมลิ่งตุ๊กตุ๊ก” เชื่อมเส้นทางวิถีไทย | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > นวทรรศน์ฯขยับต่อยอด “ฟู้ดทัวร์” แตกแบรนด์ “สไมลิ่งตุ๊กตุ๊ก” เชื่อมเส้นทางวิถีไทย

นวทรรศน์ฯขยับต่อยอด “ฟู้ดทัวร์” แตกแบรนด์ “สไมลิ่งตุ๊กตุ๊ก” เชื่อมเส้นทางวิถีไทย

14581955001458195553l

“นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้” แตกแบรนด์ “สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก” ยกระดับภาพลักษณ์รถท้องถิ่น ครีเอตเส้นทางท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชื่อมวิถีไทยภายใต้แนวคิด “เที่ยววิถีไทย…รถท้องถิ่นไทย” ตั้งเป้าแจ้งเกิดภายในปีนี้ พร้อมรุกจับเซ็กเมนต์หลากหลายตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว เอฟ.ไอ.ที. ต่อยอดความสำเร็จจากกลุ่มสินค้า “ฟู้ดทัวร์”

 

นายชินาวุธ ชินะประยูร และนายกิติชัย ศิรประภานุรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท นวทรรศน์ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด เปิดเผยร่วมกันว่า บริษัทได้พัฒนาสินค้าท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ “สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก” ภายใต้แนวคิด “เที่ยววิถีไทย…รถท้องถิ่นไทย” ด้วยการใช้รถท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตุ๊ก ให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ด้วยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

โดยสินค้าแรกที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 6 เดือนก่อน คือ “ฟู้ดดี้ ตุ๊กตุ๊ก” ในกรุงเทพฯ ราคาแพ็กเกจอยู่ที่ 1,900 บาทต่อคน พานักท่องเที่ยวตระเวนชิมอาหารและพาไปเที่ยวชุมชนเล็ก ๆ ที่รถบัสเข้าไม่ถึง เป็นการพัฒนาต่อยอดจากสินค้าหลักของบริษัทอย่าง “ฟู้ดทัวร์” โดยลูกค้าฟู้ดดี้ ตุ๊กตุ๊ก ปัจจุบันเป็นลูกค้าเก่าจากฟู้ดทัวร์ 60%

ดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย

“จริง ๆ แล้วไทยมีรถท้องถิ่นที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์หลายพื้นที่ ทั้งรถตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพฯ รถม้าในลำปาง รถแดงในเชียงใหม่ รวมถึงที่อื่น ๆ เช่น ตรัง ระยอง ภูเก็ต อยุธยา และเกาะสีชัง ประกอบกับตลาดท่องเที่ยวโต นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากสัมผัสความเป็นท้องถิ่นในมิติใหม่ ๆ จึงดึงเอกลักษณ์ของรถท้องถิ่นมาใช้กับสินค้านำเที่ยวของเรา ความท้าทายคือการยกแบรนด์ สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊กให้เป็นที่รู้จัก”

ปัจจุบับริษัทมีเครือข่ายรถตุ๊กตุ๊กฟรีแลนซ์ 25 คัน ซึ่งเพียงพอกับการนำเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยได้จัดอบรมคนขับรถตุ๊กตุ๊กใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความแตกต่างของวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้น, มาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาดของรถ และการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อนำบริการขนส่งลูกค้ามาเชื่อมโยงท่องเที่ยว ทำให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กในเครือข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมได้คนละ 500 บาทต่อวัน พอมาวิ่งรถกับบริษัทมีรายได้พิเศษราว 600-1,000 บาทต่อครั้ง เฉลี่ยวิ่งรถคนละ 7-8 ครั้งต่อเดือน ทำให้มีรายได้รวมเฉลี่ยเพิ่มเป็น 800-900 บาทต่อวัน เท่ากับอัตราปกติที่ได้รับในภาวะปกติก่อนไทยประสบปัญหาทางการเมือง

พัฒนาคน-มาตรฐานบริการ

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยตลาดรถตุ๊กตุ๊กในไทยพบว่า เดิมลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก คนไทยใช้บริการน้อยมาก แต่หลัง ๆ ชาวตะวันตกเองก็เริ่มกลัวว่าคนขับตุ๊กตุ๊กจะหลอกลวง เช่น พาไปร้านขายจิวเวลรี่ทั้งที่ไม่ต้องการ การคิดค่าบริการแพงเกินเหตุ บางรายมีการตั้งแก๊งฉกชิงของมีค่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นบริษัทจึงอยากผลักดันให้แบรนด์ “สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก” เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับมาตรฐาน

การให้บริการ และยกระดับภาพลักษณ์รถท้องถิ่นไทย ล่าสุดได้หารือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยปรับปรุงรูปแบบรถตุ๊กตุ๊กในเครือข่าย 25 คนดังกล่าว ทั้งเรื่องตาข่ายกั้นมิจฉาชีพฉกชิงของมีค่า การอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการขึ้นลงรถ รวมถึงหลังคาโปร่งใส ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก โดยบริษัทกับเจ้าของรถจะออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน หนุนให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี หวังส่งผลกระทบในวงกว้างให้รถตุ๊กตุ๊กคันอื่นเห็นแล้วอยากปรับปรุงโฉมรถตาม

เปิดเซ็กเมนต์ใหม่จับเอฟ.ไอ.ที.

นอกเหนือจากสินค้าฟู้ดดี้ตุ๊กตุ๊กแล้วบริษัทได้แตกเซ็กเมนต์อื่นที่มีศักยภาพในการขายและทำตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) อาทิ โรแมนติก ตุ๊กตุ๊ก จับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคู่รัก ราคาแพ็กเกจ 2,500 บาทต่อคน ไม่รวมราคาดินเนอร์ส่วนตัว, ไฮไลต์ ตุ๊กตุ๊ก จับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรก พาไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระแก้ว และเวตเจตทาเรียนตุ๊กตุ๊ก เจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มรับประทานอาหารมังสวิรัติ

“บริษัทจะเน้นทำตลาดแบรนด์สไมลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก แจ้งเกิดให้ได้ในปีนี้ เพราะมีฐานลูกค้าจากการทำตลาดฟู้ดทัวร์ ซึ่งเราใช้เวลา 2-3 ปี กว่าเอเย่นต์ทัวร์จะรู้จักสินค้าของบริษัทเป็นวงกว้าง และส่งต่อลูกค้าให้ นอกจากนี้ยังรุกทำตลาดองค์กรมากขึ้นด้วย ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าจากเอเย่นต์และองค์กรรวม 20% ขณะที่ลูกค้าจากช่องทางออนไลน์ครองสัดส่วน 70-80%”

เปิด “สิงคโปร์ ฟู้ดทัวร์”

ด้านสถานการณ์ตลาดฟู้ดทัวร์นั้นในปัจจุบันพบว่าแข่งขันสูงจาก 4-5 บริษัท คู่แข่งบางรายเป็นนอมินี ส่งผลให้ตลาดฟู้ดทัวร์ในกรุงเทพฯเริ่มอิ่มตัว เป็นการเติบโตตามเทรนด์ปกติ ไม่หวือหวา จึงร่วมกับพันธมิตรในสิงคโปร์เปิดตัวสินค้าแบรนด์ใหม่ “สิงคโปร์ ฟู้ดทัวร์” เน้นขายคุณค่าและเรื่องราวของอาหารในย่านดัง เน้นลูกค้าออสเตรเลียและยุโรปเป็นหลักโดยจะเข้ามาเสริมทัพแบรนด์ที่มีอยู่ ทั้ง “บางกอก ฟู้ดทัวร์” ซึ่งมี 3 เส้นทาง คือ บางรัก เยาวราช และธนบุรี ราคาแพ็กเกจ 1,900 บาทต่อคน รวมถึง “เชียงใหม่ ฟู้ดทัวร์” 2 เส้นทาง มีเส้นทางพาชิมอาหารเหนือในร้านเก่าแก่ ราคา 1,050 บาทต่อคน ถูกกว่าราคาในกรุงเทพฯ เพราะเชียงใหม่มีการแข่งขันด้านราคาสูง ถ้าทำราคาโดดจากตลาดจะขายยากมาก ๆ

ส่วนอีกเส้นทางจะเป็นอาหารเหนือและอาหารท้องถิ่นทุกแบบ ใช้รถแดงนำเที่ยว นอกจากฟู้ดทัวร์แล้ว บริษัทยังมีเส้นทางไปพระนครศรีอยุธยาแบบไปเช้าเย็นกลับ และเส้นางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน พาแวะเมืองรอง เช่น สุพรรณบุรี สุโขทัย และลำปาง

updated: 18 มี.ค. 2559 เวลา 07:30:47 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1458195500

Comments

comments