‘ประจิน’เร่งกู้วิกฤตินักบินขาด สั่ง‘บินไทย’ศึกษาแผนยืมตัวกัปตันระหว่างสายการบิน | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > ‘ประจิน’เร่งกู้วิกฤตินักบินขาด สั่ง‘บินไทย’ศึกษาแผนยืมตัวกัปตันระหว่างสายการบิน

‘ประจิน’เร่งกู้วิกฤตินักบินขาด สั่ง‘บินไทย’ศึกษาแผนยืมตัวกัปตันระหว่างสายการบิน

aaaMP26-3156-A

“ประจิน” ไฟเขียวเปิดช่องการบินไทยศึกษาแผนยืมตัวนักบินระหว่างสายการบินแก้ปัญหาช่วงวิกฤติ หลังพบกัปตัน 180 คนพร้อมรับออร์เดอร์ ชูโมเดลเดียวกับไทยสมายล์เป็นต้นแบบ ชี้อีก 2 ปีแอร์ไลน์ประเมินยังต้องการนักบินอีก 915 คน ทั้งเร่งแก้ปัญหาคอขวดเวชศาสตร์การบินสั่งทำงานโอที ส่วนไอเดียใช้มาตรการลดหย่อนภาษีค่าเรียนจูงใจอีกแรง ด้านทอ.ชงแผนใช้โรงเรียนการบินกำแพงแสนหนุนอีกแรงแต่ติดข้อกฎหมาย

จากปัญหาวิกฤติขาดแคลนนักบิน โดยเฉพาะในระดับกัปตัน ส่งผลให้พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรง และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนั้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่การประชุมครั้งล่าสุดมีความคืบหน้าไปมาก

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการประชุม แก้ปัญหานักบินขาดแคลนครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีความชัดเจนขึ้นหลายประเด็นที่สำคัญและเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือการที่ พล.อ.อ. ประจิน ได้มอบหมายให้ผู้บริหารการบินไทยไปวางกรอบการพิจารณาแผนการยืมตัวนักบินระหว่างสายการบินด้วยกัน หลังฝ่ายบริหารการบินไทยได้พรีเซนต์ในที่ประชุมว่าขณะนี้ มีนักบินระดับกัปตันราว 180 คนที่สามารถให้สายการบินอื่นยืมตัวไปปฏิบัติการบินเป็นการชั่วคราวได้

โดยแนวทางในการศึกษาจะเทียบเคียงกับโมเดลที่การบินไทยเคยทำกับสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งนักบินยังมีสถานะเป็นพนักงานของการบินไทย รับเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ เหมือนเดิม แต่อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำในกรณีที่ไปบินกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของผู้บริหาร และยังจะทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มจากการเปิดบริการดังกล่าวด้วย ส่วนสายการบินที่ยังขาดแคลนนักบินอยู่มีทั้ง ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ เป็นต้น

“เหตุที่ทำให้การบินไทยมีนักบินในระดับกัปตัน 180 คน พอที่จะหมุนเวียนไปบินกับสายการบินอื่นเป็นการชั่วคราวได้ เป็นเพราะก่อนหน้าการบินไทยขายปลดระหว่างเครื่องบินเก่าออกจากฝูงบินเป็นจำนวนมาก มีการลดเส้นทางบินทั่วโลกออกไปหลายเส้นทาง การเลื่อนการรับมองเครื่องบินใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นักบินผู้ช่วย หรือโค-ไพรอท มีจำนวนพอดีกับความต้องการ”

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แนวคิดดังกล่าวนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรด้านการบินระดับกัปตันขาดแคลนอย่างหนักแล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบิน ซึ่งนักบินผู้ช่วย ที่สะสมชั่วโมงบิน 8 พัน-หมื่นชั่วโมง อายุงาน 8-10 ปี ซึ่งมีคุณสมบัติที่ได้รับการโปรโมตเป็นกัปตันเร็วขึ้นจากเดิมที่มีชั่วโมงบินสะสม 1.2 หมื่นชั่วโมงหรืออายุงาน 10-12 ปี ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งสายการบินที่ขาดแคลนก็ไม่ต้องนำนักบินต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย

อย่างไรก็ดีที่ประชุมได้มีการนำเสนอถึงข้อมูลความต้องการนักบินในช่วง 2 ปีข้างหน้า 2559-2560 ของแต่ละสายการบินพบว่าโดยรวมมีความต้องการ นักบิน 915 คน รวมทุกสายการบิน โดยระบุว่าในระดับกัปตันมีความต้องการ 272 คน นักบินผู้ช่วยจำนวน 643 คน ส่วนปี 2561 มีความต้องการกัปตันในราว 148 คน แต่ส่วนใหญ่หลายสายการบินยังไม่มีแผนชัดเจนในการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ มากนักเพราะยังกังวลต่อปัญหาการปลดธงแดงของไทยจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ว่าจะทำได้เมื่อไร ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนขยายเส้นทางบินใหม่ ของสายการบินโดยตรง

แหล่งข่าว ยังกล่าวต่ออีกว่า ประธานที่ประชุมยังให้การสนับสนุนสถาบันเวชศาสตร์การบิน ตามข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นปัญหาคอขวด ระยะสั้นจากการขาดแคลนนักจิตวิทยาการบิน ที่มีอยู่เพียง 5 คน ส่งผลต่อการสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ผ่านหลักเกณฑ์การเป็นนักบิน ซึ่งปัจจุบันทำได้เพียงวันละ 6 คนเท่านั้น จึงสั่งให้มีการทำงานนอกเวลาและทำงานในวันหยุด ส่วนแผนระยะยาวการเสนอซื้อคอมพิวเตอร์มูลค่า 100 ล้านบาทที่ประชุมได้รับไปพิจารณา ส่วนแผนการจัดหาสถานที่สร้างสถาบันแห่งที่ 2 นั้น มีการเสนอให้ใช้พื้นที่ของกองทัพอากาศ เป็นที่ทำการ

“ส่วนการที่ประชุมได้เสนอแนวคิดให้นำค่าเล่าเรียนนักบินให้ผู้ปกครองสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นมีราคาแพง ในราว 2-3 ล้านบาทต่อคน กว่าได้ไลเซนส์นักบินพาณิชย์ที่ชั่วโมงบิน 200 ชั่วโมง นั้นจะมีการนำมาพิจารณาในครั้งต่อไปเช่นเดียวกับข้อเสนอของทอ.ที่เสนอให้ใช้โรงเรียนฝึกการบินที่กำแพงแสนมาสนับสนุนการผลิตนักบินพาณิชย์ แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงการนำเครื่องบินที่มีอยู่มาใช้ในการฝึกบินก็ติดปัญหากฎหมาย และการประกันภัย เป็นต้น ซึ่งจะมีการหาแนวทางดำเนินการแก้ไขร่วมกันในการประชุมครั้งหน้า” แหล่งข่าวกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Comments

comments