เปิดแผน “5 แอร์ไลน์ไทย” ฝ่าสมรภูมิน่านฟ้าปี′59 | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > เปิดแผน “5 แอร์ไลน์ไทย” ฝ่าสมรภูมิน่านฟ้าปี′59

เปิดแผน “5 แอร์ไลน์ไทย” ฝ่าสมรภูมิน่านฟ้าปี′59

เปิดศักราชใหม่กันด้วยความเคลื่อนไหวและปัจจัยทั้งบวกและลบของธุรกิจ “สายการบิน”

แน่นอนว่า ยังคงต้องจับตากันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงต่อเนื่อง รวมถึงภาวะค่าเงิน ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความกังวลต่อปัญหาก่อการร้ายที่อาจฉุดบรรยากาศ และส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการเดินทางตลอดปีนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความคิดเห็นและมุมมองของผู้บริหาร 5 สายการบินในไทย ต่อทิศทางการแข่งขันของสมรภูมิน่านฟ้าในปีนี้

“จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “การบินไทย” มองว่า แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจสายการบินในปีนี้จะดุเดือดกว่าปีที่แล้ว เป็นผลจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้หลาย ๆ สายการบินสามารถทำราคาตั๋วบินแข่งขันได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นส่วนหนุนต่อธุรกิจสายการบิน แต่อาจไม่ใช่ตัวเสริมชัดเจนนักสำหรับ “การบินไทย”

เพราะไม่สามารถทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (เฮดจิ้ง) ล่วงหน้าในระยะยาวได้ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกค่อนข้างผันผวน มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยการบินไทยทำเฮดจิ้งน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45% ต่อปี ที่ระดับราคา 80 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าคู่แข่งในภูมิภาคซึ่งทำเฮดจิ้งน้ำมันในระดับราคา 90-110 เหรียญสหรัฐ

โดยในปีนี้ การบินไทยจะเร่ง “เพิ่มรายได้” ตามแผนที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ด้านการขายตั๋วบิน เพื่อเป้าหมายอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือเคบินแฟกเตอร์ให้ได้ 80% หลังจากปี 2558 การบินไทยมีเคบินแฟกเตอร์เฉลี่ยที่ 73% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ราว 68.9%

ขณะที่เป้าหมายการ “ลดค่าใช้จ่าย” ก็จะเร่งดำเนินงานตามแผนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าไว้ที่ 5 พันล้านบาท หนุนการเพิ่มสัดส่วนอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่ง (ยีลด์) ของการบินไทยให้ได้สูงขึ้น ใกล้เคียงกับมาตรฐานของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 7%

พร้อมคาดว่าจะเห็นกำไรชัดเจนตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการปีนี้ของการบินไทยมีกำไรอย่างแน่นอน !

ด้าน “พรต เสตสุวรรณ” รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” มองว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นได้ทั้ง “ฮีโร่” และ “ซาตาน” ในปี 2559

หมายความว่า…ตัวเลขการขยายตัวถือว่าสดใสมาก ท่องเที่ยวไทยได้อานิสงส์จากการที่นักท่องเที่ยวจากโซนเอเชียตะวันออกและออสเตรเลียที่ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาก่อการร้ายในยุโรปทำให้เกิดกระแสเดินทางเข้าไทยมากขึ้น

แต่สิ่งสำคัญคือไทยต้องเร่ง “จัดการตัวเอง” ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องเร่งปลดล็อกปัญหาด้านการบินให้ได้ตามกำหนด หลังจากองค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ปักธงแดงเมื่อปีที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ประกอบการสายการบินราคาประหยัด “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจสายการบินในปีนี้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะได้อานิสงส์จากเหตุก่อการร้ายในยุโรป

นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้ายุโรปเพราะกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัย ส่งผลให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกระแสการเดินทางค่อนข้างดี

ด้านราคาน้ำมันโลก แนวโน้มยังอยู่ในช่วงขาลง ไทย แอร์เอเชียทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเครื่องบินไว้ในสัดส่วน 30% ส่วนอีกปัจจัยที่เราค่อนข้างกังวลคือ ภาวะค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเชิงหนี้สินสกุลดอลลาร์ที่เรามีอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินบาทอ่อนค่า จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในภาพรวม หนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น และมีการเติบโตทั้งด้านจำนวนคนกับรายได้ หนุนให้ไทย แอร์เอเชียมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้น

“พาที สารสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์มองว่า เศรษฐกิจไทยและโลกในปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวดี เป็นวงจรของเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัวแบบนี้ต่อไปอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งผู้ประกอบการสายการบินต้องยืนให้ได้

โดยคาดว่าจะยังเห็นธุรกิจของนกแอร์เติบโต แต่อาจจะไม่ได้โตมากไปกว่าปีที่ผ่านมาก

“แม้ธุรกิจสายการบินจะมีปัจจัยเสริมเรื่องราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงแต่พอเจอปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัวเข้าไป ทำให้นกแอร์ไม่สามารถลดราคาตั๋วบินเพื่อทำราคาขายแข่งกับเจ้าอื่นได้ ทั้งที่เราควรได้ประโยชน์จากจุดนี้มาก ๆ ประกอบกับตอนนี้เศรษฐกิจไทยฝืดเคืองมาก ๆ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อด้านท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างชัดเจน”

ส่วน “อัศวิน ยังกีรติวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2559 จะเป็นปีที่ไทยไลอ้อนแอร์รุกขยายเส้นทางบินใหม่ไปต่างประเทศ

โดยจุดหมายที่ตั้งเป้าบินไปมีประเทศจีน 5 จุดหมาย ได้แก่ ไท่หยวน หนานจิง จี้หนาน เฉิงตู และเสิ่นหยาง เริ่มต้นวันละ 1 เที่ยวบินในแต่ละเส้นทาง สอดรับกับแนวโน้มตลาดที่ชาวจีนนิยมเดินทางเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง และนิยมเดินทางไปเที่ยวทะเลและขึ้นเหนือไปเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดบินไปฮ่องกง และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หลังชิมลางเปิดให้บริการเส้นทางบินดอนเมือง-สิงคโปร์เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา

ขณะที่เส้นทางบินภายในประเทศซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง ไทยไลอ้อนแอร์เตรียมเปิดเส้นทางใหม่ในปีนี้อีก 5 เส้นทาง ได้แก่ ขอนแก่น ตรัง พิษณุโลก สกลนคร และนครพนม เพื่อขยายเน็ตเวิร์กให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ตามนโยบายมัดใจตลาดในประเทศให้ได้มากที่สุด จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการแล้ว 9 เส้นทางบิน

“ถวัลย์ เทียนทอง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เสริมว่า กลยุทธ์ที่ไทยไลอ้อนแอร์จะใช้ในปีนี้จะยังคงเน้นการขายตั๋วบินราคาถูกอย่างต่อเนื่อง วางบันไดราคาไว้ 15-16 ขั้น และต้องถูกกว่าสายการบินโลว์คอสต์คู่แข่งไม่ต่ำกว่า 400 บาทสำหรับทุกเที่ยวบิน

“และในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ เรื่องราคาตั๋วบินยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง แต่ถึงจะรุนแรง อัตราโหลดแฟกเตอร์ของแต่ละสายการบินก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยทางไทยไลอ้อนแอร์เน้นมากเรื่องการบริหารรายได้ในแต่ละเที่ยวบินแบบเรียลไทม์ และอาศัยความได้เปรียบจากจำนวนที่นั่งในแต่ละเที่ยวบินที่มีจำนวนมากอยู่ที่ประมาณ 215 ที่นั่ง”

ทั้งหมดนี้คือ มุมมองต่ออุตสาหกรรมการบิน รวมถึงแผนเชิงรุกของ 5 สายการบินของไทยสำหรับปีนี้ !

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments