“โรงแรม-แอร์ไลน์” กำไรทะลัก รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > “โรงแรม-แอร์ไลน์” กำไรทะลัก รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน

“โรงแรม-แอร์ไลน์” กำไรทะลัก รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน

ว่ากันว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 29.88 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 20.44% สร้างมูลค่ารายได้ถึงราว 1.45 ล้านล้านบาท และเติบโตเพิ่มขึ้น 23.4%

โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงคือ สถานการณ์ภายในประเทศที่นิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีเหตุระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์ และการระบาดของไวรัสเมอร์ส แต่สถานการณ์ก็กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ

โรงแรมโตกระฉูดทุกเซ็กเมนต์

“สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) เผยว่า สำหรับปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 19,226.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 943.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.2% และกำไรสุทธิ 1,675.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%

โดยแบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 9,051.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อน และธุรกิจอาหาร 10,174.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ทำให้สัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร คิดเป็น 47.1% และ 52.9%

โดยในส่วนของโรงแรมมีอัตราการเข้าพัก 80.5% เพิ่มขึ้น 5.7% โรงแรมทั้ง 2 แห่งในกรุงเทพฯ มีรายได้ปรับตัวขึ้น 27% ทำให้มีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเป็น 30% เพิ่มจากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 25%

ขณะที่โรงแรมทั้ง 2 แห่งในมัลดีฟส์ มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้จากธุรกิจโรงแรม

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าธุรกิจโรงแรมจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีกในปี 2559 นี้ โดยคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ราว 31.40-32.27 ล้านคน

ขณะที่บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีรายได้ในปี 2558 รวม 5,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 25%

“กันยะรัตน์ กฤษณเทวินทร์” รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” แจงว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมนั้นพบว่า มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกเซ็กเมนต์ ทั้งกลุ่มโรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพฯ โรงแรม 5 ดาวในต่างจังหวัด โรงแรมระดับกลาง รวมถึงโรงแรมชั้นประหยัดและบัดเจต

ด้านกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่รายงานผลประกอบการปี 2558 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 48,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรมและอื่น ๆ 24,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% โดยมีกำไรสุทธิที่ 7,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60%

นอกจากนี้ยังมีการบันทึกผลกำไรพิเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ และความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าของการลงทุนที่ผ่านมา

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2558 กลุ่มไมเนอร์ฯมีโรงแรมที่ลงทุนเอง จำนวน 59 แห่ง และมีโรงแรมและเซอร์วิสสวีตที่รับจ้างบริหารอีก 79 แห่ง ใน 22 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวม 17,174 ห้อง

“BA-แอร์เอเชีย” กำไรอู้ฟู่

เช่นเดียวกับฟากธุรกิจสายการบินที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 24,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% และมีกำไรสุทธิ 1,849.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 379.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

หากดูเฉพาะธุรกิจสายการบิน บางกอกแอร์เวย์สเติบโต 8.9% ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน (ยกเว้นธุรกิจให้บริการคลังสินค้า) เติบโต 17.3% ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสายการบินเกิดจากจำนวนผู้โดยสารและราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นและยังได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก

ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชีย มีรายได้รวมสำหรับปี 2558 ที่ 29,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2557 เติบโตจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 22% เป็น 14.8 ล้านคน สูงกว่าปริมาณที่นั่งที่เพิ่มขึ้น 19% มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) 81% เพิ่มขึ้น 1%

โดยมีราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยในปี 2558 ลดลง 3% มาอยู่ที่ 1,667 บาทต่อคน อันเนื่องมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมน้ำมันตั้งแต่ต้นปี 2558

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียมีรายได้จากบริการเสริมเพิ่มขึ้น 11% เป็น 4,851 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมสัมภาระ ค่าธรรมเนียมบริการต่อเที่ยวบิน และรายได้จากการขายอาหารและของที่ระลึกบนเครื่องบิน

ด้านผลกำไรสุทธิในปี 2558 นั้น ไทยแอร์เอเชียทำได้ที่ 1,078.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 335 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นปัจจัยหลักที่หนุนผลการดำเนินงาน เนื่องจากต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 36% ของต้นทุนทั้งหมด

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียน่าจะทำกำไรได้ดีกว่านี้ แต่กลับสะดุดในช่วงไตรมาสที่ 4 เพราะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุระเบิดย่านราชประสงค์เมื่อกลางสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปกว่า 12% และทำให้กำไรสุทธิในช่วงดังกล่าวลดลงไปกว่า 36%

และอีกสาเหตุคือเป็นการเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดท่องเที่ยวของไทยกลับมาขยายตัวสุดขีด หลังอัดอั้นกับเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

“บินไทย-นกแอร์” กอดคอขาดทุน

สำหรับการบินไทยสายการบินแห่งชาติ ในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Loss) จำนวน 1,304 ล้านบาท ดีกว่าการขาดทุน 23,019 ล้านบาท ในปี 2557

“จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “การบินไทย” บอกว่า การบินไทยมีค่าใช้จ่ายพิเศษตามโครงการตามแผนปฏิรูปและการด้อยค่าของเครื่องบิน จำนวน 16,324 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 3,512 ล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 13,047 ล้านบาท

โดยแผนปฏิรูปองค์กรมีส่วนช่วยผลักดันให้ผลประกอบการเฉพาะบริษัทการบินไทย มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจการบินจำนวน 570 ล้านบาท ดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับการขาดทุน 22,439 ล้านบาท ในปี 2557

“จรัมพร” บอกด้วยว่า ในปี 2559 จะเป็นปีที่การบินไทยดีขึ้น หลังจากสามารถหยุดการขาดทุนได้แล้ว โดยมุ่งการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบเคียงกับคู่แข่ง ขยายฐานรายได้จากหลากหลายกลุ่มตลาด พร้อมหมุนเวียนเครื่องบินให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น วางตารางบินได้ดีขึ้น สามารถขยายเส้นทางบินใหม่ได้ 4-5 เส้นทางในปีนี้

สำหรับแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ของการบินไทยตั้งแต่ปี 2559-2561 มี 14 ลำ ปีนี้มีแผนรับมอบแอร์บัส เอ350 จำนวน 2 ลำ, ปี 2560 มีแผนรับมอบ 7 ลำ ส่วนปี 2561 มีแผนรับมอบแอร์บัส เอ350 จำนวน 5 ลำ

ขณะที่ในส่วนของสายการบินนกแอร์นั้น นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ปี 2558 นกแอร์มีรายได้รวม 1.42 หมื่นล้านบาท ขาดทุนรวม 1,662.29 ล้านบาท

สาเหตุหลักเกิดจากการแข่งขันในตลาดการบินรุนแรงกว่าที่คาด นอกจากนี้จำนวนเที่ยวบินยังต่ำกว่าแผนที่วางไว้ เพราะยอดหมุนเวียนเข้าออกของนักบินมีนัยสำคัญ และมากกว่าปกติที่บริษัทคาดการณ์ไว้ และมีค่าใช้จ่ายจากการนำเครื่องบินเข้าซ่อมบำรุงซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว รวมทั้งการรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในสายการบินนกสกู๊ตด้วย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางการขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ก็ยังคงมีหลายบริษัทที่ยังต้องดิ้นรนฟันฝ่าและต้องปรับตัวตั้งรับกันต่อไป…

 

updated: 03 มี.ค. 2559 เวลา 21:15:31 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments