8 เหตุการณ์ฮอต ท่องเที่ยวปี”58 สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า… (แต่) โตทะลุเป้า | ATTA

ACTIVITY OF MONTH














ATTA > Tourism News > 8 เหตุการณ์ฮอต ท่องเที่ยวปี”58 สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า… (แต่) โตทะลุเป้า

8 เหตุการณ์ฮอต ท่องเที่ยวปี”58 สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า… (แต่) โตทะลุเป้า

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ตั้งเป้ารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับปี 2558 ว่าจะมีรายได้รวม 2.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยว 28.8 ล้านคน ถึงขณะนี้ “อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่มองว่า ตลอดปี 2558 ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 30.45 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.83% เมื่อเทียบกับปี 2557 และสามารถสร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะที่ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่ากากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ได้แถลงตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวล่าสุดว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้ทั้งจากตลาดต่างชาติ และไทยเที่ยวไทย เป็นไปตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.42 ล้านล้านบาท และจากตลาดไทยเที่ยวไทย 0.79 ล้านล้านบาท และมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 30 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขทั้งรายได้รวมและจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2558 ของไทยจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยลบต่าง ๆ ดังนี้

1.ICAO ปัก “ธงแดง”

เรียกได้ว่าเป็น “วิบากกรรม” ของอุตสาหกรรมการบินของไทย หลังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล จนพบข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ (SSC) เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย โดยสงสัยใน 2 ประเด็นหลักว่า ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ไทยกลับออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จำนวนมาก รวมถึงมาตรฐานเกี่ยวกับการขนสินค้าอันตราย ส่งผลให้สัญลักษณ์ “ธงแดง” ปรากฏหน้าชื่อประเทศไทย ในเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

กระทั่งรัฐบาลตัดสินใจผ่าตัดปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนเดิม คลอดออกเป็น 4 หน่วยงานใหม่ ได้แก่ 1.กรมท่าอากาศยาน 2.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 3.กองค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน และ 4.กองนิรภัยการบินและสอบสวนอากาศยานประสบภัย เพื่อเร่งปลดล็อก SSC ตามโจทย์ของ ICAO

แต่เพราะแก้ปัญหาไม่แล้วเสร็จ ทำให้เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) ประกาศลดเกรดมาตรฐานการบินของไทยจาก Category 1 (อยู่ในมาตรฐาน) เป็น Category 2 (ต่ำกว่ามาตรฐาน) เป็นผลให้สายการบินของไทยไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเข้าสหรัฐได้ และไม่สนับสนุนข้อตกลงทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องสำเร็จ

และเมื่อ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) ได้ประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีสายการบินของประเทศไทยถูกเพิ่มเติมในรายชื่อของสายการบินที่ไม่อนุญาตให้ทำการบินในขณะนี้ แต่คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป และเอียซ่า ก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดถึงการพัฒนานับจากนี้

และถ้าหากจำเป็นซึ่งการปกป้องผู้โดยสารในอนาคต คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปอาจนำเสนอที่จะรวมสายการบินของไทยจำนวนหนึ่งสายการบิน หรือมากกว่านั้น รวมอยู่ใน Air Safety List ต่อไป

2.”เมอร์ส” ทุบเกาหลีเที่ยวไทย

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ที่รู้จักกันในนามของโรคเมอร์สที่ระบาดเกาหลีใต้ ทำให้มีคนเสียชีวิตได้สร้างความตื่นตัวให้กับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงทางการไทยที่เพิ่มมาตรการการติดตามโรคดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามเป็นวงกว้างต่อชีวิตของคนและเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดในปี 2546 ที่ผ่านมา

และแน่นอนภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือ ภาคการท่องเที่ยว แม้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์สในภาพรวมยังไม่กระจายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในวงกว้าง แต่การระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สในกาหลีใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและมีมาตรการเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักท่องเที่ยว เพราะเกาหลีใต้ก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติรายสำคัญของไทย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอยู่อันดับที่ 5 ของตลาด

นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย หรือมีจำนวนประมาณ 1,117,449 คนในปี 2557 สร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 42,783.63 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

การระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สในประเทศเกาหลีใต้ จึงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่มการระบาดของโรค

3.บูมสนามบิน “อู่ตะเภา”

สนามบินอู่ตะเภานับเป็นสนามบินพาณิชย์น้องใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง โดยถูกผลักดันให้เกิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในปีนี้

กองทัพเรือในฐานะเจ้าของสนามบินได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมไปเมื่อ 3 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาอู่ตะเภาเชื่อมโยงการคมนาคมและกระจายความแออัดจากสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยแนวทางการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ได้แบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 ช่วงปี 2558-2560 พัฒนาให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 8 แสนคนต่อปี เป็น 3 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 2 ช่วงปี 2561-2563 พัฒนาให้รองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี และเฟสที่ 3 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 ระยะทางไม่ต่ำกว่า 2.7 พันเมตร

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ด้วยการขยายถนนหน้าสนามบินจาก 2 เลน เป็น 4 เลน และเตรียมก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพัทยา-มาบตาพุด พร้อมปรับถนนทางเข้าออกหลักในฝั่งตะวันตกของสนามบิน ส่วนระบบรางแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ระหว่างการศึกษา

ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาเร่งทำตลาดดึงสายการบินทั้งไทยและเทศเข้ามาเพิ่มเส้นทางบินเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร โดยขณะนี้มีสายการบินให้บริการเส้นทางบินที่อู่ตะเภาแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย บางกอก แอร์เวย์ส, ไทย แอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย มาเลเซีย

นับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกของไทยให้เป็น “ทัวริสต์ เดสติเนชั่น” แห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียและจีน

4.บึ้ม “ราชประสงค์”

เหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อคืนวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ได้ฉุดบรรยากาศของภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งถือเป็น “เครื่องยนต์” เศรษฐกิจเดียวที่ยังติดอยู่และเป็นความหวังของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2558 เป็นที่มาของการตั้งคำถามเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย รวมถึงระบบข่าวกรองของไทย

โดยภาครัฐและเอกชนต่างประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า จะเกิดขึ้นในระยะสั้น 3-6 เดือนเท่านั้น เพราะราชประสงค์เป็นย่านที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) จากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ นิยมมาเที่ยว จึงตระหนกกับเหตุการณ์ในช่วงแรก ๆส่งผลให้เดือนกันยายนมียอดยกเลิกการเดินทางและเข้าพักลดลง กระแสการจองทัวร์ทั้งจากตลาดทัวร์จีน ทัวร์ฮ่องกง และทัวร์ไต้หวันเข้ามาน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของตลาดจีนในช่วงวันหยุดยาว (โกลเด้นวีก) ฉลองวันชาติจีน เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมในย่านราชประสงค์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จากประสบการณ์การทำธุรกิจโรงแรม ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลากหลายวิกฤต แต่ละครั้งล้วนรุนแรง และค่อนข้างพูดลำบากว่าเหตุการณ์ไหนร้ายแรงที่สุด เพราะทุกคนซัฟเฟอร์ด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอย่างมาก อยากให้รัฐบาลเรียกศรัทธาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

5.ก่อการร้าย “ปารีส”

ฉุดยุโรปเกิดเหตุการณ์กราดยิงของกลุ่มก่อการร้ายในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยไปทั่วยุโรป เพราะกรุงปารีสไม่เพียงแค่เป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรม การเงิน และการเมืองของฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 8% ของรายได้รวม

สำหรับประเทศไทยนั้นในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ประมาณ 6 แสนคน สร้างรายได้ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท อยู่ในอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ดังกล่าวในระยะสั้น ส่งผลกระทบทันทีในเชิงจิตวิทยาของผู้วางแผนเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในส่วนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปในระยะยาว ประกอบกับที่มีข่าวหนังสือแจ้งเตือนจากหน่วยงาน

ข่าวกรองรัสเซียว่า มีสมาชิกกลุ่ม ISIS จำนวน 10 คน เดินทางเข้ามาตามแหล่งท่องเที่ยวของไทย อาทิ พัทยา, ภูเก็ต และกรุงเทพฯ

ข่าวที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ลดลงไปอีก กระทั่งหลายฝ่ายวิตกว่าจะส่งผลกระทบยาวมาถึงไฮซีซั่นปีใหม่ด้วย เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

6.จีนปรับลดค่า “หยวน”

เป็นที่จับตาอย่างยิ่งจากสายตาทั่วโลก สำหรับภาวะฟองสบู่หุ้นจีนที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะแตกเมื่อช่วงกลางปี 2558 หลังสถานการณ์ตลาดหุ้นจีนปรับลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลก ประกอบกับเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศนโยบายปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้สะท้อนสถานการณ์ตลาดได้ดียิ่งขึ้นจากความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจจีน

ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวพาคนจีนเที่ยวไทยมองว่า เบื้องต้นจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพราะมาตรการทางการเงิน เช่น การปรับลดค่าเงินหยวน จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจีนให้คล่องตัวขึ้น หนุนให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของจีนเติบโตได้ตามเป้าหมายและคาดว่าตลอดปี 2558 ภาพรวมค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบไปบ้างในช่วงเดือนมิถุนายนที่เศรษฐกิจต้องเจอกับปัญหาฟองสบู่หุ้น และคาดว่าในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวไทยเฉียด 8 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท ครองส่วนแบ่งประมาณ 18% ของรายได้ท่องเที่ยวไทยทั้งหมด ซึ่งตั้งไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท

ขณะที่ประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-จีน หรือเจซี ครั้งที่ 4 เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ไทยกับจีนจะมีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันทั้ง 2 ขา โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมากถึง 10 ล้านคนในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีจีนเที่ยวไทยถึง 7.9 ล้านคน

และนับจากนี้จะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และเปิดตลาดใหม่ ๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาของนักท่องเที่ยวทั้งฝั่งไทยและจีนร่วมกัน

7.บินไทย (ยัง) ขาดทุนอ่วม

วาดเป้าว่าปีนี้ “การบินไทย” จะมีรายได้แตะ 2 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ 1.8 แสนล้านบาท แต่ด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) และสายการบินระดับพรีเมี่ยมด้วยกันเอง โดยเฉพาะสายการบินจากแถบตะวันออกกลาง บวกกับระบบการทำตลาดที่ไม่แข็งแรงพอ ทำให้สายการบินแห่งชาติรายนี้ยังติดหล่มอย่างหนัก

โดย 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปีนี้ การบินไทยขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 18,100 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4 ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะมีศักยภาพในการทำกำไรทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ตัวเลขรวมสำหรับปีนี้อาจขาดทุนมากกว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่การบินไทยเคยขาดทุนมากที่สุดเมื่อปี 2551ตัวเลขขาดทุนที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ทำให้ “การบินไทย” เป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจ ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งให้เร่งปรับแผนฟื้นฟูองค์กรโดยด่วนและเป็นรูปธรรม

โดย “จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า รายได้ของการบินไทยตลอดปี 2558 นี้อาจไม่ถึง 1.8 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากครึ่งปีแรกรายได้หลุดจากเป้าหมายค่อนข้างสูง อัตราผลตอบแทนหรือกำไร (ยีลด์) ต่อที่นั่งลดลง ทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวเลขต้นทุนค่าจ่ายในครึ่งปีแรกก็ยังไม่ได้ลดลงตามแผนปฏิรูปองค์กร

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยนัดพิเศษ เมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาทบทวนแผนฟื้นฟูขององค์กร เพื่อเสนอต่อที่ประชุม คนร. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์เป็นประธานอีกครั้ง

โดยภาพรวมยังคงเน้นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย แต่จำต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยปรับวิธีการดำเนินงานแบบแยกส่วนสอดรับกับแต่ละตลาด ด้วยความหวังว่าปี 2559 นี้จะเป็นปีที่ “การบินไทย” กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง

8.แลนด์มาร์ก “วัดอรุณ”

นับเป็นอีเวนต์ใหญ่สร้างสีสันในช่วงสิ้นปี สำหรับกิจกรรรม “ไทยแลนด์ เคานต์ดาวน์” นับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ในวันที่ 29-31 ธันวาคมนี้ ที่พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมหาราช ซึ่งเป็นไอคอนของประเทศไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติจดจำได้

งานนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมายให้กิจกรรมนี้เปิดภาพการจดจำภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวระดับโลก โดยใช้โอกาสส่งท้ายปี 2558 ต้อนรับปี 2559 พร้อมตั้งเป้าให้วัดอรุณเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของปฏิทินเคานต์ดาวน์ของโลก เทียบชั้นนิวยอร์กไทม์สแควร์ สหรัฐอเมริกา, หอไอเฟล ฝรั่งเศส และโอเปราเฮาส์ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และมีแนวโน้มจัดอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป เพื่อโปรโมตท่องเที่ยวไทย

ที่สำคัญ นอกเหนือจากจัดเคานต์ดาวน์ปีใหม่แล้ว ททท.ยังจัดเคานต์ดาวน์เข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในวันที่ 30 ธันวาคมด้วย

ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นผู้นำของไทยในชาติอาเซียน…

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Comments

comments